"เรียนออนไลน์" ความท้าทายวงการศึกษา

สังคม
10 เม.ย. 63
18:05
8,748
Logo Thai PBS
"เรียนออนไลน์" ความท้าทายวงการศึกษา
นักวิชาการ เชื่อการเรียนออนไลน์สู้วิกฤต COVID-19 เป็นโอกาสสำคัญที่ท้าทายวงการศึกษาไทย แต่ต้องอุดช่องว่างเหลื่อมล้ำในพื้นที่ต่างจังหวัด พร้อมแนะสร้างกิจกรรมในบ้านเสริมทักษะให้ลูกได้เรียนรู้หลากหลาย

หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบข้อเสนอของ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ขอเลื่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ในปีการศึกษา 2563 ออกไปเป็น 1 ก.ค.นี้ จากสถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ยังไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อใด และอาจไม่ปลอดภัยกับนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา การขยับเวลา จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือก เพื่อให้ปัญหาได้ผ่อนคลายไปก่อน

และเพื่อไม่ให้กระทบต่อการเรียน หลังต้องเลื่อนเปิดเทอม ทำให้อาจไม่มีช่วงปิดเทอมเดือน ต.ค.

ทั้งนี้ ยังอาจปรับการเรียนการสอน หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค ยังไม่ดีขึ้น ซึ่งจะเป็นการเรียนในรูปแบบออนไลน์ให้สอดคล้องกับหลักสูตร ในแต่ละระดับชั้นของการศึกษา รวมทั้งกลับมาพิจารณาและศึกษาความเหมาะสมของอุปกรณ์อย่างแท็บเล็ตอีกครั้ง เพื่อรองรับการเรียนการสอนออนไลน์ เป็นคำถามว่าการศึกษาของไทยต่อจากนี้ กับสถานการณ์โรคระบาด จะเป็นอย่างไร 

นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า วิกฤต COVID-19 ครั้งนี้ จะกลายเป็นโอกาสของระบบการศึกษาไทย ที่จะได้เริ่มปรับเปลี่ยน คิด ตั้งคำถาม และออกแบบการเรียนรู้กันใหม่ ที่ไม่ใช้เพียงการเรียนในห้องเรียน หรือ โรงเรียนเท่านั้น คำถามคือคนในระบบการศึกษากล้าที่จะเปลี่ยนความคิดหรือไม่

ใช้วิกฤต COVID-19 เพิ่มทางเลือกการศึกษา

นายสมพงษ์ กล่าวว่า ในช่วงเวลานี้ทำให้เห็นโอกาสดีของระบบการศึกษาอีกก้าวหนึ่ง เหมือนให้โอกาสเด็กได้รับการศึกษาทางเลือกมากขึ้น แนวความคิดหลายเรื่องเคยเสนอมาแล้ว เกี่ยวกับการจัดการศึกษาจะได้ถูกนำมาพิจารณา และนำมาใช้ เช่น การเรียนรู้แบบระบบ Home School การเรียนรู้จาก แอปพลิเคชัน โซเซียลมีเดีย ซึ่งเราสามารถออกแบบการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละกลุ่มได้และอีกเรื่องหนึ่ง เราก็จะมองมิติครูกว้างขึ้น ขยายไป ในเรื่องของครู 3 เส้า คือ ครูในโรงเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน ต้องเชื่อมโยง และบูรณาการ ทำงานร่วมกัน เช่น ผู้ปกครอง ต้องจัดกระบวนการเรียนรู้อยู่ที่บ้าน หากิจกรรมให้เด็กทำหรือออกการแบบเรียนรู้ มีปฏิสัมพันธ์กับลูก อยากสอนให้ลูก ปลูกผัก ล้างรถ ทำกับข้าว ช่วงนี้เป็นโอกาสช่วงที่ครอบครัวได้อยู่ด้วยกัน

นอกจากนี้ พ่อแม่อาจช่วยดูในในเรื่องของการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ วิชาต่าง ๆ ให้ตรงและสอดคล้อง กับครูในระบบโรงเรียน

นโยบายต้องชัด ป้องกันครูสับสน

สำหรับความพร้อมของครูหรืออาจารย์ ตอนนี้กำลังสับสนกันอยู่ว่า นโยบายจะมีทิศทางไปแบบไหน ในช่วงระยะเวลาที่ต้องเลื่อนการเปิดเทอม จึงอยากให้ทำความเข้าใจและเรียนรู้กับแนวทางใหม่ๆ ซึ่งการเตรียมความพร้อมแบบเข้มข้นภายใน 1-2 เดือนนี้มีความจำเป็น เพราะอย่างน้อยคาดว่า COVID-19 จะอยู่กับเราอย่างน้อย 6 เดือน - 1 ปี

ห่วงเด็กออกจากระบบการศึกษา

ในส่วนของรัฐบาล ขณะนี้มองการเรียนของเด็กเป็นเรื่องสำคัญแล้ว แต่ขออย่ามองว่าการแจกแท็บเล็ตเป็นวิธีการเดียวในระบบการเรียนรู้ ทั้งนี้ เรื่องการศึกษายังถูกมองว่าสำคัญน้อยไป เมื่อเทียบกับด้านเศรษฐกิจ สังคม หรือด้านอื่นๆ

เรามีประวัติศาสตร์เรื่องการแจกแท็บเล็ตแล้ว ผลที่ได้รับกลับมาไม่คุ้ม จะต้องดูประวัติศาสตร์ให้ดี แล้วดูว่ามันคุ้มค่าและแก้ไขปัญหาได้จริงหรือไม่ อีกทั้งจำนวนเด็กที่ต้องออกจากระบบการศึกษากำลังเพิ่มมากขึ้น จากทั้งปัญหาการตกงาน หรือจากปัจจัยอื่น ๆ สิ่งที่เป็นกังวลมาก คือ จะทำระบบการเรียนในขณะนี้ให้หลากหลายและเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงการเรียนรู้ได้เท่าเทียบกัน อย่ามองนโยบายจากบนลงล่างแล้วคิดว่าเป็นบทสรุปของการจัดการศึกษาที่ดีที่สุดเพราะนโยบายแบบนี้จะเข้าถึงเด็กและผู้ปกครองบางส่วนเท่านั้น แต่เด็กอีก 80 % จะพลาดโอกาสทางการศึกษา

นอกจากนี้ ขอให้ครูคิดแตกต่างและคิดนอกกรอบในช่วง 2 เดือนนี้ เพื่อมองหาวิธีการเรียนรู้เพิ่มเติมจากมหาวิทยาลัย ทั้งรูปแบบการสอนแบบโฮมสคูล แบบปัจเจกบุคคล หรือแบบชุดการสอน เพื่อปรับวิธีการต่าง ๆ เหล่านั้นให้เหมาะสมกับลูกศิษย์แต่ละคน ซึ่งจะเป็นการทิ้งห้องเรียนแบบหนึ่งไปสู่ห้องเรียนอีกแบบหนึ่งที่น่าสนใจมากกว่าได้

เสนอหลักสูตรระยะสั้น

นายสมพงษ์ ยังได้สะท้อนว่า หากโรคระบาดยังไม่จบลงในเร็ววัน ซึ่งหากมีการปรับเปลี่ยนการเรียนรู้เป็นแบบออนไลน์เพิ่มมากขึ้น อาจจะส่งผลให้เกิดความเลื่อมล้ำกับเด็กต่างจังหวัด ซึ่งอาจมีความพร้อมในเรื่องอุปกรณ์ เทคโนโลยี น้อยกว่า หากมองวิธีการจัดการแบบเดียว มาตรฐานเดียวจะยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมหล้ำ และโอกาสที่จะเข้าถึงการเรียนรู้จะยิ่งแตกต่างกันมากยิ่งขึ้น สิ่งที่ต้องดู คือ โรงเรียนขนาดเล็ก ขนาดกลาง ใช้โอกาสนี้นำเทคโนโลยีเข้าไป

หากมีการเรียนการสอนผ่านโทรทัศน์ เป็นวิธีการที่ดีเด็กทุกกลุ่มเข้าถึงได้ง่าย เพียงแต่ว่าเด็กจะต้องมีวินัย และเด็กจะต้องมีคนที่คอยชี้แนะ มีรายการการศึกษา ให้เด็กได้เรียนรู้และมีประสบการณ์ ที่กว้างขึ้น มันต้องตอบโจทย์คนในศตวรรษที่ 21 ได้

ช่วงที่เด็กปิดเทอม เลื่อนเปิดเทอม เด็กอยู่บ้าน อยากเสนอให้การออกแบบหลักสูตรระยะสั้น 30 วัน 60 วัน จัดตารางเด็กควรจะได้เรียนรู้อะไร เมื่อเด็กอยู่ที่บ้าน พ่อแม่ต้องเป็นหลัก ออกแบบการเรียนรู้ให้ลูก แบ่งเวลาในการทำกิจกรรมให้เด็ก 

การศึกษาอาจไม่ใช่รูปแบบเดิม ที่ต้องไปโรงเรียน ครูจึงอาจต้องเปลี่ยนวิธีคิดว่า ครูอยู่โรงเรียน ครูพ่อแม่ ครูชุมชน วิธีคิดของการจัดการศึกษาครั้งนี้ ต้องเลิกคิดติดกรอบ ต้องมองนอกกรอบ ต้องมองหาวิธีการและนวัตกรรมที่เป็นการเรียนรู้กลุ่มเล็ก ๆ และก็เรียนรู้รายบุคคลมากขึ้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยุโรปตายเพิ่ม "หมอลำบากใจ" ต้องเลือกชีวิตคนเป็นคนตาย

นักคณิตศาสตร์คาดสิ้น มิ.ย.ผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นศูนย์

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง