เคาะแล้ว! ปิดเทอม 1-2 ศธ.ให้หยุด 54 วัน

สังคม
8 พ.ค. 63
14:53
27,070
Logo Thai PBS
เคาะแล้ว! ปิดเทอม 1-2 ศธ.ให้หยุด 54 วัน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประกาศวันปิดภาคเรียนที่ 1/2563 จำนวน 17 วัน และวันปิดภาคเรียนที่ 2/2563 จำนวน 37 วัน หวังให้นักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษาได้พักผ่อน

ความคืบหน้ากรณีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แถลงการณ์การจัดการเรียนการสอนช่วงการแพร่ระบาด COVID-19 ครั้งที่ 2 ในกรณีที่ไม่สามารถทำการเรียนการสอนที่โรงเรียนได้ในวันที่ 1 ก.ค.2563

วันนี้ (8 พ.ค.2563) นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Nataphol Teepsuwan - ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ว่า ประเด็นเรื่องการเพิ่มเวลาพัก ในครั้งนี้มีการขยายผลเพิ่มเติม โดยแบ่งการเรียนการสอนออกเป็น 2 ภาคเรียน แต่ละภาคเรียนมีเวลาพักในภาคเรียนที่ 1/2563 จำนวน 17 วัน และในภาคเรียนที่ 2/2563 จำนวน 37 วัน รวมทั้งสิ้น 54 วัน ท่ามกลางความท้าทายของการจัดการเรียนการสอนในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ที่มีแนวโน้มที่ดีขึ้นนั้น ขอให้ทุกท่านสนับสนุนซึ่งกันและกันเพื่อที่จะผ่านทุกอุปสรรค และสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับการศึกษาไทย

ถึงแม้เราจะอยู่ภายใต้สถานการณ์ไม่ปกติ แต่ก็ให้ความสำคัญกับการที่นักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษาได้มีเวลาพักเพื่อผ่อนคลายได้ไม่มากก็น้อย

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เปิดเผยรายละเอียดการจัดการเรียนการสอนในสภาวะที่ไม่ปกติ ในพื้นที่ยังมีความไม่ปลอดภัย ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียนได้ เน้น “การเรียนรู้นำการศึกษา” โรงเรียนอาจหยุดได้ แต่การเรียนรู้หยุดไม่ได้ มีรายละเอียดในภาพรวมดังนี้

  • รูปแบบการเรียนการสอนออกแบบให้สอดคล้องกับความปลอดภัยของพื้นที่ โดยมีการเรียนรู้แบบ onsite ในพื้นที่ที่มีความปลอดภัยสามารถไปโรงเรียนได้ ขณะที่พื้นที่ไม่ปลอดภัยจะมีการเรียนรู้หลักผ่านทางการ on-air ของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมีการเรียนรู้เสริมผ่านระบบ online
  • นโยบายหลักที่นำมาใช้ คือ เพิ่มเวลาพักซึ่งจะมีการแถลงอีกครั้งในรายละเอียด ลดการประเมินและงดกิจกรรมต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็น โดยเน้นเรียนเฉพาะวิชากลุ่มสาระหลัก หวังว่าจะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงนักเรียนผ่อนคลายได้
  • การเตรียมพร้อมในด้านระบบการเรียนรู้ทางไกลและระบบออนไลน์จะเริ่มทดสอบตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค.นี้ เป็นต้นไป โดยพิจารณาทั้งในเชิงประสิทธิภาพและการเข้าถึง เพื่อเตรียมความพร้อมให้มากที่สุดในกรณีที่วันที่ 1 ก.ค.นี้ ไม่สามารถเปิดภาคเรียนที่โรงเรียนได้
  • กระทรวงศึกษาธิการ จะเป็นผู้สนับสนุนการเรียนการสอนทางไกลในสัดส่วน ร้อยละ 80 เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการเรียนขั้นพื้นฐานได้ ส่วนอีกร้อยละ 20 หรือมากกว่า ให้ทางโรงเรียนและครูในแต่ละพื้นที่พิจารณาออกแบบตามความเหมาะสม
  • การเรียนผ่านการสอนทางไกลจะใช้สื่อโทรทัศน์ในทุกระบบเป็นหลัก ทั้งนี้ ได้รับการอนุเคราะห์สื่อจากมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมีดิจิทัลแพลตฟอร์มของกระทรวงศึกษาธิการ (DEEP) และการเรียนการสอนแบบโต้ตอบออนไลน์เป็นสื่อเสริม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง