สัญญาณดี! ลูกช้างป่า-โขลงช้างส่งเสียงหากัน

สิ่งแวดล้อม
19 มิ.ย. 63
12:03
696
Logo Thai PBS
สัญญาณดี! ลูกช้างป่า-โขลงช้างส่งเสียงหากัน
คืนแรกภารกิจส่งลูกช้างป่าห้วยขาแข้งหลงแม่กลับโขลง ยังไม่มีแม่มารับ แต่มีสัญญาณดีช้างส่งเสียงเรียกหากัน ลุ้นแม่มารับวันที่ 2 เจ้าหน้าที่ยังเฝ้าระวังความปลอดภัยให้กับลูกช้างอย่างใกล้ชิด

วันนี้ (19 มิ.ย.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊ก "ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช" รายงานความคืบหน้าภารกิจส่งลูกช้างป่าพลัดหลงแม่กลับคืนโขลงที่ห้วยขาแข้ง เมื่อคืนที่ผ่านมา (18 มิ.ย.) เป็นคืนแรกที่เจ้าหน้าที่นำลูกช้างป่าเข้าคอกชั่วคราวในป่าบริเวณห้วยน้ำขุ่น เพื่อรอให้โขลงแม่ช้างมารับ ซึ่งตลอดทั้งคืนยังไม่มีโขลงช้างเข้ามาที่คอก แต่เริ่มมีสัญญาณดี เพราะมีเสียงเรียกหากันเป็นระยะระหว่างลูกช้างป่ากับโขลงช้าง

ดร.ศุภกิจ​ พินิจพรสวรรค์ ผอ.ส่วนสารสนเทศด้านอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ซึ่งเป็นผู้ที่ติดตั้งวิทยุติดตามระบบ VHF ที่ขาลูกช้างป่า เปิดเผยกับ "ไทยพีบีเอสออนไลน์" ว่า ภารกิจส่งลูกช้างป่ากลับโขลงครั้งนี้ใช้วิธีธรรมชาติให้ลูกช้างส่งเสียงร้องหาแม่ โดยไม่ได้ใช้วัตถุเทียม เช่น อาหาร เพื่อล่อให้โขลงช้างเข้ามาใกล้คอก

จุดที่ปล่อยเป็นพื้นที่อาศัยของกลุ่มช้างแม่รับ การมีเสียงโต้ตอบระหว่างกัน อาจเป็นการสื่อสารระหว่างตัวช้าง
ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

 

สำหรับคืนแรก ยังไม่มีโขลงช้างเข้ามาในจุดตั้งคอก อาจเป็นเพราะมีเสียงรบกวนในพื้นที่ เช่น เสียงรถเจ้าหน้าที่ หรือเสียงจากการเตรียมการของเจ้าหน้าที่ รวมถึงปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ทำให้เปอร์เซ็นที่โขลงช้างจะเดินเข้ามามีน้อยมาก แต่อย่างไรก็ตาม ทีมคชสารของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งได้เฝ้าระวังความปลอดภัยให้กับลูกช้างตลอดทั้งคืน และห่างจากจุดตั้งคอกชั่วคราวออกไปอีกประมาณครึ่งกิโลเมตร จะมีชุดกองอำนวยการและทีมสัตวแพทย์เตรียมพร้อมอยู่ด้วย

ดร.ศุภกิจ ยังกล่าวอีกว่า การส่งลูกช้างป่ากลับโขลงดำเนินการตามแผนที่วางไว้ หลังจากวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดที่ได้รับจากในพื้นที่และต้องเป็นข้อมูลที่แม่นยำ ทั้งเรื่องจุดพักนอนของกลุ่มช้าง เส้นทางการเคลื่อนที่ รวมถึงตำแหน่งหากินของกลุ่มช้างในแต่ละวัน ทั้งนี้มีการวางแผนไว้หลายแนวทาง โดยหากไม่มีสัญญาณของโขลงช้างมารับ ก็อาจจะย้ายลูกช้างไปตั้งคอกที่จุดใหม่

หรือกรณีแม่ช้างมารับลูกกลับไปแล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะติดตามสัญญาณจากวิทยุติดตามตัวที่ติดไว้บริเวณขาหลังด้านขวาของลูกช้าง ขณะเดียวกันชุดลาดตระเวนจะติดตามลูกช้างอย่างต่อเนื่องอีกทางหนึ่ง แต่หากกลับไปแล้วลูกช้างเดินไม่ทันโขลง หรือพลัดหลงแม่อีกครั้ง ก็จะทำให้การปล่อยคืนป่าในครั้งต่อไปมีความยากลำบากขึ้น เนื่องจากต้องพิจารณาเงื่อนไขของตัวลูกช้าง และลูกช้างเองควรจะต้องได้กินนมจากช้างแม่รับ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็อาจจะคล้ายกับกรณีของ "ชบาแก้ว" ที่เจ้าหน้าที่ต้องนำตัวกลับมาดูแล

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ลุ้นภารกิจปล่อย "ลูกช้าง" คืนแม่ช้างป่าห้วยขาแข้ง

เร่งช่วย "ลูกช้างป่า" ห้วยขาแข้ง พลัดหลงแม่

อาการดีขึ้น "ลูกช้างป่า" พลัดหลง เตรียมแผนปล่อยเข้าฝูง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง