"แอมเนสตี้" เปิดตัวอาสาสมัคร จับตาชุมนุมการเมือง

การเมือง
16 ส.ค. 63
11:23
620
Logo Thai PBS
"แอมเนสตี้" เปิดตัวอาสาสมัคร จับตาชุมนุมการเมือง
แอมเนสตี้ เปิดตัวอาสาสมัครสังเกตการณ์การชุมนุมเริ่มงานส.ค.นี้ ร่วมบันทึกข้อมูล ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมสาธารณะ ใช้หลักการสิทธิมนุษยชนสากล พร้อมร่วมไอลอว์ พัฒนาเว็บไซต์ม็อบดาต้าไทยแลนด์

วันนี้ (16 ส.ค.2563) นางปิยนุช โคตรสาร ผอ.แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดตัวอาสาสมัครสังเกตการณ์การชุมนุม เพื่อสังเกตการณ์และบันทึกข้อมูล ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมสาธารณะ โดยใช้หลักการที่เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล ซึ่งอาสาสมัครสังเกตการณ์การชุมนุม เป็นผู้สนใจและให้ความสำคัญในประเด็นสิทธิมนุษยชน ทั้งหมดผ่านการฝึกอบรม แลกเปลี่ยนความรู้และทักษะการเฝ้าสังเกตการณ์ และการบันทึกการชุมนุมสาธารณะอย่างถูกต้องตามมาตรฐานสากล เนื้อหาหลักสูตรการอบรมบางส่วนมาจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติด้วย และผ่านการอบรมโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสันติวิธี 

หลักการสำคัญคือ ผู้สังเกตการณ์จะต้องไม่แสดงความคิดเห็นถึงการชุมนุมสาธารณะ ไม่ส่งเสริมหรือทำลายขวัญกำลังใจของผู้ที่ประสงค์จะมาร่วมชุมนุม ต้องไม่มีส่วนร่วมหรือมีความเกี่ยวข้องใดๆ ต่อการชุมนุม

นางปิยนุช กล่าวอีกว่า กิจกรรมจะทำโดยเข้าไปสังเกตการณ์ จดบันทึกและรวบรวมข้อมูลที่บันทึกได้จัดทำเป็นเอกสารสำหรับรายงานต่อบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การสังเกตการณ์ครั้งแรกจะมีขึ้นในเดือนส.ค.นี้ โดยอาสาสมัครจะมีการแขวนป้ายซึ่งมีคำว่าผู้สังเกตการณ์ ระบุไว้อย่างชัดเจน เพื่อแยกว่าผู้สังเกตการณ์มิได้เป็นส่วนหนึ่งของผู้ชุมนุม

 

พัฒนาเว็บไซต์ม็อบดาต้าไทยแลนด์

นอกจากนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ยังได้ร่วมกันพัฒนาเว็บไซต์ม็อบดาต้าไทยแลนด์ Mobdatathailand.org  เพื่อให้เป็นฐานข้อมูลการชุมนุมสาธารณะที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยเริ่มบันทึกข้อมูลตั้งแต่เดือนม.ค.ที่ผ่านมา และเปิดให้ทดลองใช้งานตั้งแต่วันที่ 7 ส.ค.นี้ 

ภาพ: mobdatathailand.org

ภาพ: mobdatathailand.org

ภาพ: mobdatathailand.org

 

โดยเว็บไซต์นี้จะเป็นอีกพื้นที่สาธารณะที่เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการรายงานสถาน การณ์การชุมนุมที่เกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ได้ยังร่วมมือกับองค์กรที่มีภารกิจเรื่องเสรีภาพในการชุมนุมอย่าง ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน มูลนิธินิติธรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม ประชาไทและ Law Long Beach โดยหากมีชุดข้อมูลที่มีนัยสำคัญที่สามารถนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบาย จะได้ถูกนำเสนอต่อภาครัฐหรือองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องในประเด็นนี้เพื่อสร้างบรรยากาศแห่งเสรีภาพในการชุมนุมที่ดีขึ้นในประเทศไทย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตำรวจคุมเข้มชุมนุมใหญ่-ศาลออกหมายจับ 15 แกนนำ

กลุ่มสิทธิเสรีภาพพระนครเหนือ แสดงจุดยืน 3 ข้อ

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง