THE EXIT : เปิดกระป๋องทูน่าไทย ตอน 2

เศรษฐกิจ
9 ก.ย. 63
20:16
1,645
Logo Thai PBS
THE EXIT : เปิดกระป๋องทูน่าไทย ตอน 2
COVID-19 ระบาดนานขึ้นส่งผลให้ความต้องการอาหารแปรรูปอย่าง "ทูน่ากระป๋อง" เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว เฉพาะสหรัฐฯ นำเข้าทูน่ากระป๋องของไทยเพิ่มขึ้น 47% แต่อุตสาหกรรมทูน่าก็ถูกท้าทายจากปัญหาการทำประมงแบบไม่ยั่งยืนและการละเมิดสิทธิแรงงาน

วันนี้ (9 ก.ย.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อุตสาหกรรมทูน่าทั่วโลกกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอน คือสิ่งที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ เคยประเมินไว้ในช่วง COVID-19 ระบาดใหม่ๆ แต่การระบาดอย่างต่อเนื่องทำให้ทูน่ากระป๋องกลายเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น

มีการจับตา 5-6 ประเทศแถวหน้าในอุตสาหกรรมแปรรูปทูน่า ทั้งเอกวาดอร์ สเปน จีน ไทย และประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนอีก 2 ประเทศคือ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ว่าแต่ละประเทศจะมีศักยภาพในการหาวัตถุดิบ แปรรูป และขยายฐานการส่งออกได้มากน้อยเพียงใด

ยกตัวอย่างประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งประเทศอันดับ 6 ของโลก มีกองเรือจับทูน่ากว่า 100 ลำ มีท่าขึ้นทูน่าขนาดใหญ่อยู่ที่เมืองเจเนอรัลซันโตส ฝั่งตะวันออกของเกาะมินดาเนา และโรงงานแปรรูปที่ตั้งอยู่ในเมือง แต่ปริมาณการส่งออกตั้งแต่ปี 2562 ปรับลดลงเหลือไม่ถึง 8 หมื่นตัน เน้นรองรับการบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น

 

อันดับ 2 อย่างประเทศเอกวาดอร์ แม้จะอยู่ใกล้ "อเมริกา" แต่ตลาดส่งออกหลักกลับอยู่ที่สหภาพยุโรป ต้นปี 2562 เอกวาดอร์ประสบปัญหาวัตถุดิบในการผลิตขาด แต่พอแก้ปัญหาได้ก็สามารถเพิ่มกำลังผลิต กระทั่งตัวเลขส่งออกมาจบที่ 2.3 แสนตัน ส่วนในปี 2563 แนวโน้มการผลิตเพื่อส่งออกยังคงสดใส

แต่เมื่อนำตัวเลขของแต่ละประเทศมาเทียบกับ "ไทย" พี่ใหญ่ของวงการทูน่ากระป๋องของโลก ที่มียอดส่งออกปีละกว่า 5 แสนตันอาจกล่าวได้ว่าประเทศอื่นๆ ยังเทียบชั้นได้ยาก แค่ครึ่งปีแรกของปี 2563 ยอดทะลุไปกว่า 2.9 แสนตัน ซึ่งตลาดใหญ่สุดของไทยอยู่ที่ "สหรัฐอเมริกา" มียอดนำเข้าทูน่ากระป๋องและทูน่าแปรรูป ในช่วง 6 เดือนของปี 2563 สูงถึง 6.8 หมื่นตัน ตัวเลขนี้สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึง 47% รองลงมาคือ กลุ่มตะวันออกกลาง และแอฟริกา

การเติบโตของตลาดทูน่ากระป๋องในพื้นที่ระบาดของ COVID-19 สอดคล้องไปกับการคาดการณ์ของ FAO ที่ระบุว่า ยิ่งเศรษฐกิจโลกถดถอย คนตกงาน และผู้บริโภคมีกำลังซื้อลดลง ความต้องการ "ทูน่ากระป๋อง" ที่มีราคาย่อมเยาและให้คุณค่าทางอาหารสูงจะเพิ่มมากขึ้น ทั้งในตลาดเดิมและตลาดที่ขยายใหม่ เช่น ตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ

อุปสรรคอุตสาหกรรมทูน่าไทย

ความต้องการของผู้บริโภค และความสามารถในการแข่งขันของผู้ผลิตไทยคงไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง แต่ความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมทูน่าไทยกำลังถูกท้าทายจากปัญหาเดิมที่ยังไม่ได้แก้ ซึ่งรายงานล่าสุดของกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุว่า ทูน่ากระป๋อง 7 ใน 9 ยี่ห้อของไทย ยังคงรับซื้อปลาบางส่วนจากเรืออวนล้อมที่ติดเครื่องมือล่อปลา เครื่องมือประมงแบบนี้ทำให้สัตว์น้ำประเภทอื่นๆ หลายขนาดถูกจับมาพร้อมกันด้วย

นอกจากนี้ยังมีอีก 1 ยี่ห้อยังซื้อปลาบางส่วนจากเรือประมงที่ใช้เบ็ดราวเป็นเครื่องมือในการล่าทูน่า การติดตั้งเบ็ดจำนวนมากตลอดความยาวหลายกิโลเมตร เรือประมงจะไม่ได้จับแค่ "ทูน่า" อย่างเดียว หลายต่อหลายครั้ง เต่าทะเล ฉลาม และนกทะเลที่ลงมากินปลาที่ติดเบ็ด ก็ต้องจบชีวิตด้วยเครื่องมือนี้

ไทยคือผู้นำเข้าทูน่าจากทั่วโลกปีละกว่า 7 แสนตัน และเรือประมงที่ยังใช้เบ็ดราวจับทูน่าทั่วโลกมีมากถึง 7,124 ลำ เฉพาะมหาสมุทรแปซิฟิกมี 2,165 ลำ ซึ่งไทยรับซื้อทูน่าจากบริเวณนี้มากที่สุด

 

กรีนพีซ จึงเรียกร้องให้บริษัทซื้อปลาจากเรือที่จับด้วยอุปกรณ์ที่ยั่งยืน เช่น เบ็ดเตวัด เบ็ดมือ อวนล้อมที่ไม่ใช้เครื่องมือล่อปลา พร้อมหลีกเลี่ยงการซื้อปลาจากแหล่งที่มีการทำประมงเกินขนาด และให้แสดงข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ไว้บนหน้าเว็บไซต์และฉลากสินค้า เช่นเดียวกับเรื่องแรงงาน บริษัทจะต้องไม่รับซื้อปลาจากเรือที่มีการขนถ่ายสินค้ากลางทะเล และเรือที่ไม่กลับเข้าฝั่งเกิน 3 เดือน เนื่องจากการจับทูน่ามักจับในน่านน้ำสากล ต้องใช้เวลานานอยู่กลางทะเล แรงงานในเรือมีโอกาสสูงที่จะบังคับใช้แรงงานและถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน

รายงานฉบับนี้คาดหวังให้ผู้บริโภคชาวไทยร่วมส่งเสียงไปถึงบริษัทฯ และรัฐบาลไทยที่กำกับนโยบายและกฎหมายให้ตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ ซึ่งสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย ที่มีสมาชิกกว่า 20 บริษัท ตอบรับข้อเสนอในรายงานฯ ด้วยการพูดคุยเบื้องต้นกับเทรดเดอร์รายใหญ่ทั้งไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลี ที่ส่งทูน่ามาไทย ถึงแนวทางในการแก้ปัญหา พร้อมยืนยันหนักแน่นว่าความยั่งยืนและเป็นธรรมคือเส้นทางหลักที่อุตสาหกรรมทูน่าไทยไม่อาจปฏิเสธได้

"ทูน่า" เป็นสัญลักษณ์ของการบริหารจัดการทะลและมหาสมุทรที่หลายประเทศทั่วโลกต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะไทยที่เป็นทั้งผู้รับซื้อและส่งออกทูน่ากระป๋องรายใหญ่ที่สุด ต้องมีส่วนรับผิดชอบในการแก้ปัญหา เพราะเดิมพันนี้ไม่ใช่เรื่องความมั่นคงทางอาหารของประชากรโลกอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงการรักษาสมดุลของระบบนิเวศ ที่เป็นที่มาของรายได้มหาศาลในอุตสาหกรรมทูน่าของไทย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อ

THE EXIT : เปิดกระป๋องทูน่าไทย (ตอน 1)

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง