ใครทำสะดุด เบี้ยผู้สูงอายุ-เบี้ยความพิการ

เศรษฐกิจ
11 ก.ย. 63
20:16
1,931
Logo Thai PBS
ใครทำสะดุด เบี้ยผู้สูงอายุ-เบี้ยความพิการ
อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ระบุสามารถใช้เงินท้องถิ่นที่สะสมไว้มาจ่ายเงินเบี้ยผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการได้ก่อน ส่วนปัญหาความล่าช้าอยู่ที่ระบบ รวมถึงการปรับปรุงข้อมูลผู้รับเงินทุกๆ 3 เดือน

วันนี้ (11 ก.ย.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทุกวันที่ 10 ผู้สูงอายุจะได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดือนละ 600-1,000 บาท ตามระดับอายุ และผู้พิการเดือนละ 800 บาท แต่เมื่อวานนี้ (10 ก.ย.) เป็นครั้งแรกที่กรมบัญชีกลางไม่สามารถโอนเงินเบี้ยผู้สูงอายุและความพิการได้ตามกำหนด

ก่อนหน้านี้ เพจหน่วยงานรัฐ 2 หน่วยงาน ได้แก่ เพจกรมบัญชีกลาง และเพจกองสวัสดิการสังคม เทศบาลเมืองแสนสุข ต่างโยนความผิดให้กันและกัน โดยกองสวัสดิการสังคมฯ ระบุว่า เกิดจากปัญหาระบบการโอนเงินไป-กลับ ระหว่างท้องถิ่นและกรมบัญชีกลาง

ขณะที่กรมบัญชีกลาง ระบุว่า งบประมาณท้องถิ่นไม่เพียงพอต่อการเบิกจ่าย จึงไม่สามารถโอนเงินผ่านระบบบริหารการคลังภาครัฐ หรือ GFMIS ได้ตามกำหนด จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงฐานะทางการคลังว่า "รัฐถังแตก" หรือไม่ ทั้งที่เรื่องนี้เป็นปัญหาจากการบริหารจัดการ เพราะขั้นตอนการเบิกจ่ายงบฯ เบี้ยผู้สูงอายุและความพิการ เป็นอำนาจของผู้บริหารท้องถิ่นแต่ละแห่ง

 

นายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า ผู้บริหารท้องถิ่นแต่ละแห่งสามารถนำเงินสะสมของตัวเองที่สำรองไว้มาจ่ายแทนก่อนได้ ขณะที่ความล่าช้าในเดือน ก.ย.2563 เกิดจากการเปลี่ยนแปลงข้อมูลผู้รับเงินของทางกรมฯ ในช่วงท้ายปีงบประมาณ และยืนยันว่าไม่ได้ถังแตกแต่อย่างใด

ปลายปีงบประมาณต้องมีการตรวจข้อมูลผู้มีสิทธิ์ให้ครบถ้วนก่อนการเบิกจ่าย นี่เป็นเหตุหลัก ยืนยันไม่มีปัญหางบประมาณ

สอดคล้องกับนายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ อธิบายเพิ่มเติมว่า ในแต่ละปี สำนักงบฯ จะจัดสรรรายการเงินอุดหนุนทั่วไปให้กับท้องถิ่น ซึ่งมีประมาณ 20 รายการ ท้องถิ่นสามารถบริหารจัดการและโยกเงินที่เหลือมาเบิกจ่ายได้ ซึ่งยอดเงินคงเหลือของรายการอุดหนุนแต่ละรายการก็เป็นข้อมูลที่กรมบัญชีกลางเห็น ซึ่งสามารถบริหารจัดการร่วมกันได้เพื่อไม่กระทบประชาชน

ขณะเดียวกันได้ชี้แจงปมการตัดงบฯ ท้องถิ่น 3,000 ล้านบาท ไม่กระทบการทำงานท้องถิ่น เพราะยอดวงเงินที่ตัดและโอนไปอยู่ในงบฯกลาง เป็นยอดรายจ่ายที่ท้องถิ่นเป็นผู้คำนวณว่าไม่ได้ใช้ เช่น งบฯ จัดประชุมสัมมนา งบฯ ลงทุนที่ยังไม่ได้ทำสัญญาผูกพันในช่วงล็อกดาวน์

 

นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานว่ามีพื้นที่ใดได้รับเงินล่าช้า แต่ยอมรับว่าการจัดเก็บรายได้ของจังหวัดลดลง จึงต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการ และลำดับความสำคัญโครงการเบิกจ่ายฯ

ภายหลังเกิดดราม่าในโซเชียลมีเดีย ทำให้นายสุชาติ โอวาทวรรณสกุล ประธานสภาคนพิการแห่งประเทศไทย ออกมาระบุว่า ขณะนี้ผู้พิการบางส่วนได้รับเงินเบี้ยยังชีพแล้ว หลังท้องถิ่นบางแห่งโยกเงินจากส่วนอื่นๆ มาจ่าย และได้รับการยืนยันจากกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นว่า ผู้พิการและผู้สูงอายุทุกคนจะได้รับเงินภายในวันที่ 22 ก.ย.นี้ พร้อมย้ำว่าผู้พิการเข้าใจปัญหาความล่าช้าในการเบิกจ่าย แต่ต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลปรับเพิ่มเบี้ยความพิการจาก 800 บาท เป็น 1,000 บาท เป็นการทั่วไป ตั้งแต่งวดเดือน ต.ค.

ทั้งนี้ ตามข้อมูลกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ขณะนี้มีผู้สูงอายุได้รับสิทธิ์กว่า 8.8 ล้านคน ผู้พิการ 1.8 ล้านคน รวมทั้งสิ้นประมาณ 10 ล้านคน โดยเเบ่งเป็นเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 5,800 ล้านบาท และเบี้ยความพิการ 1,400-1,500 ล้านบาท โดยในแต่ละเดือน เงินจะถูกโอนเข้าบัญชีเงินฝากของผู้มีสิทธิโดยตรง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรมบัญชีกลาง แจ้งเลื่อนจ่ายเบี้ย "ผู้สูงอายุ-ผู้พิการ"

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง