ชงกฎหมายสื่อออนไลน์ ป้องเด็กชายตกเป็นเหยื่อคุกคามทางเพศ

การเมือง
21 ก.ย. 63
18:54
892
Logo Thai PBS
ชงกฎหมายสื่อออนไลน์ ป้องเด็กชายตกเป็นเหยื่อคุกคามทางเพศ
กมธ.พัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชนฯ วุฒิฯ เตรียมเสนอ กฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดต่อเด็กโดยใช้สื่อออนไลน์ พบแนวโน้มเด็กชายตกเป็นเหยื่อของการละเมิดและแบล็กเมลทางเพศเพิ่มขึ้น

วันนี้ (21 ก.ย.2563) นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา เปิดเผยว่า จากปัญหาสถานการณ์ภัยออนไลน์รูปแบบใหม่ ๆ ที่ส่งผลกระทบคุกคามต่อเด็กและเยาวชนไทย โดยเฉพาะการกลั่นแกล้ง รังแก และล่อลวงการละเมิดทางเพศออนไลน์ ที่กำลังมีเพิ่มมากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน การบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน ยังมีปัญหา

ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ ได้จัดทำและเตรียมเสนอกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดต่อเด็กโดยใช้สื่อออนไลน์ โดยได้รวบรวม ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ทั้งคณะทำงานเสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อออนไลน์ในเด็กและเยาวชน ,กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ,องค์การยูนิเซฟ ,สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย เพื่อผลักดันกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดต่อเด็กโดยใช้สื่อออนไลน์เสนอต่อวุฒิสภาและรัฐบาล ต่อไป

สำหรับสาระสำคัญของกฎหมาย เป็นการกำหนดให้พฤติกรรมบางอย่างที่เป็นการกระทำผ่านสื่อออนไลน์ จากเดิมไม่เป็นความผิด มาบัญญัติแทรกไว้ในประมวลกฎหมายอาญา ให้เป็นความผิดและมีโทษ โดยเฉพาะความผิด 2 ประเภท ได้แก่ความผิดเกี่ยวกับเพศ และความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพ

ตัวอย่างเช่น การกระทำที่เป็นการสื่อสารเรื่องทางเพศโดยปราศจากเหตุอันควรกับบุคคลที่อายุไม่เกิน 18 ปี และการล่อลวงเด็กและเยาวชนที่เป็นการกระทำผ่านอุปกรณ์โทรคมนาคม จะนำไปบัญญัติไว้ในหมวดความผิดเกี่ยวกับเพศ และการกระทำที่เป็นการคุกคาม และการระรานออนไลน์ จะนำไปแทรกไว้ในหมวดความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพ

จากผลการสำรวจพฤติกรรมของเด็กไทย อายุ 8-12 ปี จำนวน 1,300 คนทั่วประเทศผ่านแบบสำรวจออนไลน์ ของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ในปี 2561 พบว่า เด็กไทยมีโอกาสเสี่ยงภัยออนไลน์ร้อยละ 60 ในขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ร้อยละ 56 โดยเด็กไทยใช้เวลากับหน้าจอท่องอินเทอร์เน็ต 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกถึง 3 ชั่วโมง

ภัยออนไลน์หรือปัญหาจากการใช้ชีวิตในยุคดิจิทัลของเด็กไทยที่พบมากที่สุดมี 4 ประเภท คือ 1.กลั่นแกล้งรังแกทางออนไลน์ ทั้งการใช้ข้อความด้วยคำหยาบคายและตัดต่อภาพ ร้อยละ 49 2.เข้าถึงสื่อลามกและพูดคุยเรื่องเพศกับคนแปลกหน้าในโลกออนไลน์ ร้อยละ 19 3.ติดเกม ร้อยละ 12 และ 4.ถูกล่อลวงออกไปพบคนแปลกหน้า ร้อยละ 7

ขณะที่ ข้อมูลจากสายด่วนอินเทอร์เน็ตไทยฮอตไลน์ โดยมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ระบุจำนวนสื่อลามกอนาจารและการละเมิดทางเพศเด็กออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปี พ.ศ.2560 ได้รับแจ้ง 1,421 รายการ เพิ่มเป็น 4,223 รายการในปี พ.ศ.2561 และในปี พ.ศ.2562 ได้รับแจ้งมากถึง 7,921 รายการ

ที่สำคัญจากข้อมูลที่ได้รับแจ้งจากเด็กพบว่า มีคนส่งสื่อลามกอนาจารมาให้โดยไม่ได้ร้องขอ มีการโน้มน้าวชักจูงให้ถ่ายคลิปส่วนตัว แล้วบันทึกขู่ประจานแลกกับเงินค่าไถ่หรือถูกนำคลิปไปขายทำเงินในกลุ่มลับที่มีรสนิยมทางเพศกับเด็ก ขณะที่เด็กชายมีแนวโน้มตกเป็นเหยื่อของการละเมิดและแบล็กเมลทางเพศเพิ่มขึ้น ทั้งนี้กลุ่มมิจฉาชีพใช้วิธีการหลากหลายมากขึ้นในการล่อลวงเด็กเพื่อผลิตสื่อลามกอนาจาร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง