แพทย์ชี้กักตัวน้อยกว่า 14 วันเสี่ยงเชื้อหลุดตรวจ

สังคม
8 ต.ค. 63
11:51
798
Logo Thai PBS
แพทย์ชี้กักตัวน้อยกว่า 14 วันเสี่ยงเชื้อหลุดตรวจ
แพทย์บางส่วนเห็นต่างลดวันกักตัวน้อยกว่า 14 วัน ระบุการติดเชื้อและฟักตัวในแต่ละคนแตกต่างกัน ชี้การนำเข้าระบบกักตัว 14 วันสำคัญที่สุด

วันนี้ (8 ต.ค.2563) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุผ่านเฟซบุ๊กว่า ธรรมชาติของการติดเชื้อ COVID-19 มีความแตกต่างกันไปในแต่ละคน ใช่ว่าทุกคนจะติดแล้วใช้เวลาฟักตัวเท่ากันราว 4-5 วันเสมอไป แต่ตัวเลข 4-5 วันนี้ คือค่ามัธยฐาน แปลว่า 50% จะใช้เวลาประมาณนี้ แต่ที่เหลือจะมากกว่านี้

ดังนั้น การนำเข้าระบบกักตัว 14 วัน จึงสำคัญที่สุด เพราะการแยงจมูกตรวจหาสารพันธุกรรม 2 ครั้งระหว่าง 14 วัน ก็ยังมีโอกาสหลุดได้ราว 5% หากเริ่มรับเชื้อมา ณ วันที่ 0 และมีระยะฟักตัวตามค่ามัธยฐาน แต่หากมีระยะฟักตัวนานกว่านั้น ก็อาจมีโอกาสที่จะหลุดจากการตรวจมากขึ้น ขึ้นอยู่กับปริมาณไวรัส และลักษณะผู้ป่วยว่าเป็นประเภทไม่มีอาการ อาการน้อย หรืออาการรุนแรง ซึ่งอาจทำให้หลุดจากการตรวจไปในครั้งแรก เหลือเพียงครั้งที่ 2 จนอาจทำให้โอกาสเกิดผลลบปลอมมากขึ้นไปถึง 13% ได้

นอกจากนี้จากข้อมูลที่เห็นกันมา จำนวนคนไม่น้อยที่มาในระบบกักตัว 14 วัน แล้วตรวจพบในช่วงวันที่ 12-13 ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ตอกย้ำว่า อะไรควร อะไรไม่ควรทำ

แพทย์เตือนคงมาตรการป้องกันโรคทางเดินหายใจ

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬากรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กระบุถึงโรคทางเดินหายใจ RSV ว่า ในช่วงที่มีการระบาดของ COVID-19 การป้องกันอย่างเต็มที่ด้วยการใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ และเลื่อนการเปิดเทอมของนักเรียน มีผลให้โรคทางเดินหายใจลดลงอย่างมาก ทั้งโรค RSV และไข้หวัดใหญ่ ได้เลื่อนระยะเวลาการระบาดในฤดูฝนออกไป แต่หลังการเปิดเทอมเต็มรูปแบบของนักเรียนจะเห็นว่าการระบาดของไข้หวัด เริ่มขึ้นก่อน และใน 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา RSV ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

สภาวะการดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า มาตรการในการป้องกันโรคทางเดินหายใจเริ่มหย่อนลง จึงอยากให้ทุกคนมีมาตรการดูแลป้องกันโรคทางเดินหายใจให้ได้เต็มที่ เช่นเดียวกับช่วงที่มีการระบาดของ COVID-19

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สธ.เตรียมเสนอ ศบค.ลดวันกักตัวนักท่องเที่ยวเหลือ 10 วัน

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง