120 นาทีมีค่า "โรคหัวใจกำเริบเฉียบพลัน" รักษาเร็ว-ลดการเสียชีวิต

สังคม
29 พ.ย. 63
14:09
5,301
Logo Thai PBS
120 นาทีมีค่า "โรคหัวใจกำเริบเฉียบพลัน" รักษาเร็ว-ลดการเสียชีวิต
กรมการแพทย์ระบุ "โรคหัวใจกำเริบเฉียบพลัน" พบได้บ่อยในผู้ใหญ่อายุ 40 ปีขึ้นไป และเกิดขึ้นได้ทุกเวลา หากได้รับการรักษาล่าช้าอาจทำให้เสียชีวิตได้

วันนี้ (29 พ.ย.2563) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงโรคหัวใจกำเริบเฉียบพลัน (Heart attack) ว่า เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตในผู้ใหญ่ พบได้บ่อยตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป

สาเหตุอาจเกิดได้จากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ที่มีสาเหตุจากหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตันชนิดเฉียบพลัน ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บหน้าอกบริเวณซีกซ้าย อาจจะร้าวไปที่แขนซ้ายหรือร้าวไปที่กราม ร่วมกับมีอาการเหงื่อออก มือเท้าเย็น วิงเวียน จะเป็นลม หมดแรง คลื่นไส้อาเจียน หายใจไม่อิ่ม ซึ่งผู้ป่วยที่เสียชีวิตก่อนถึงโรงพยาบาล สาเหตุส่วนใหญ่เป็นผลมาจากหัวใจห้องล่างเต้นผิดจังหวะชนิดร้ายแรง

ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหัวใจกำเริบเฉียบพลัน คือ การสูบบุหรี่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ภาวะอ้วนลงพุง การบริโภคอาหารที่มีไขมันทรานส์ แต่อย่างไรก็ตามอาการหัวใจกำเริบเฉียบพลัน อาจเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงดังที่กล่าวมา

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์

 

ขณะที่ นพ.เอนก กนกศิลป์ ผอ.สถาบันโรคทรวงอก กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคหัวใจกำเริบเฉียบพลันสามารถเกิดขึ้นได้ทุกสถานที่และทุกเวลา เช่น ขณะออกกำลังกาย หรือแม้กระทั่งนอนหลับพักผ่อน ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการ แต่ยังรู้สึกตัวดี ต้องรีบมาโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด ส่วนในกรณีที่ผู้ป่วยหมดสติ ผู้ที่เห็นเหตุการณ์ซึ่งหน้าจะต้องมีความรู้เรื่องการกู้ชีพขั้นพื้นฐาน (CPR) และรู้จักการใช้เครื่องกระตุกหัวใจ (AED) ก่อนนำตัวส่งโรงพยาบาล หรืออาจติดต่อหมายเลข 1669 เพื่อนำตัวผู้ป่วยส่งเข้ารับการรักษาเบื้องต้นและส่งต่อไปยังโรงพยาบาล

ผู้ป่วยที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันจากหลอดเลือดหัวใจอุดตัน จะต้องได้รับการรักษาทันที ด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือดหรือการสวนหัวใจ เพื่อทำบอลลูน มีระยะเวลาที่เป็นนาทีทอง 120 นาทีในการเปิดหลอดเลือดหัวใจ เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต

ภายหลังการรักษา ผู้ป่วยต้องรับประทานยาที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดและควบคุมปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว มาพบแพทย์ตามนัด หลีกเลี่ยงอาหารหวาน มัน เค็ม งดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำของแพทย์ หากพบว่าอาการผิดปกติ เช่น เจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย หอบเหนื่อยนอนราบไม่ได้ ขาบวมกดบุ๋ม ให้รีบพบแพทย์ทันที

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"นพ.อัษฎางค์" เสียชีวิตขณะวิ่งมินิฮาร์ฟมาราธอน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง