จับตาทิศทางการเมืองเมียนมา "รัฐประหาร ไม่ฉีกรัฐธรรมนูญ"

ต่างประเทศ
1 ก.พ. 64
12:00
786
Logo Thai PBS
จับตาทิศทางการเมืองเมียนมา "รัฐประหาร ไม่ฉีกรัฐธรรมนูญ"
ผศ.นฤมล ทับจุมพล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์จุดเริ่มต้นความตึงเครียดการเมืองเมียนมา ก่อนกองทัพประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 1 ปี ชี้เป็นการทำรัฐประหารโดยไม่ฉีกรัฐธรรมนูญ พร้อมจับตาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว หรือรัฐบาลผสม

วันนี้ (1 ก.พ.2564) จากกรณีกองทัพเมียนมา ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 1 ปี หลังเข้าควบคุมตัวออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา ประธานาธิบดีและนักการเมืองระดับสูงของพรรครัฐบาลหลายคน เมื่อช่วงเช้ามืดที่ผ่านมา

ไทยพีบีเอสสัมภาษณ์ ผศ.นฤมล ทับจุมพล  คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับจุดเริ่มต้นความตึงเครียดที่นำไปสู่การยึดอำนาจ โดย ผศ.นฤมล ระบุว่า เมียนมาจัดการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พ.ย.2563 ซึ่งวันนี้จะเป็นวันแรกในการเปิดประชุมสภาและเลือกประธานาธิบดีคนใหม่


ที่ผ่านมา กองทัพเมียนมา เคยพยายามเจรจาให้มีการจัดประชุมนัดพิเศษ เพื่อตั้งคำถามว่าการเลือกตั้งยุติธรรมหรือไม่ หรือมีการทุจริตการเลือกตั้งหรือไม่ แต่สภาฯ ไม่เห็นด้วย พร้อมยืนยันว่า เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง 

นอกจากนี้ กองทัพเมียนมา ยังมีความพยายามจะเปิดประชุมสภากลาโหม ซึ่งกองทัพเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการประชุม จึงมีผู้คัดค้านการประชุม ดังนั้น กองทัพจึงใช้วิธีจัดการโดยการควบคุมตัวทั้งซูจี มุขมนตรี มัณฑะเลย์ และสมาชิกพรรคเอ็นแอลดีหลายคน ก่อนที่กองทัพจะแต่งตั้งรองประธานาธิบดี เพื่อเซ็นมอบอำนาจให้ผู้บัญชาการทหารสุงสุด ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี

รัฐประหารภายใต้รัฐธรรมนูญ

ผศ.นฤมล ระบุว่า หากจะอ้างว่าการเลือกตั้งมีการทุจริตต้องมีหลักฐานในการชี้แจง โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 พรรคฝ่ายค้านอาจจะอ้างว่าไม่สามารถหาเสียงได้ แต่พรรครัฐบาลก็ไม่สามารถหาเสียงได้เช่นกัน หากจะอ้างว่าพรรครัฐบาลมีโอกาสหาเสียงมากกว่าจากมาตรการด้านสาธารณสุขในการดูแลประชาชน จนทำให้ฝ่ายค้านอ้างได้ว่าเสียเปรียบ สุดท้ายเมื่อดูจากคะแนนเสียงข้างมากกว่า 80% แล้ว พรรคเอ็นแอลดีก็ยังเป็นรัฐบาลหลักอยู่ดี 

กองทัพอาจคิดว่าใช้วิธีแบบรัฐสภาคงไม่ชนะ จึงต้องใช้วิธีแบบรัฐประหาร สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ เขาไม่ได้ใช้วิธีนำรถถึงออกมา อาจเป็นการรัฐประหารภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่ได้ฉีกรัฐธรรมนูญ แต่เลือกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 1 ปีแทน

ผศ.นฤมล ยังระบุว่า ขณะนี้เมียนมาอยู่ในระบบเศรษฐกิจโลกแล้ว จึงไม่ง่ายที่เมียนมาจะกลับไปปิดประเทศอีก ดังนั้น กองทัพจึงพยายามอธิบายว่าการยึดอำนาจในครั้งนี้เป็นไปตามกลไกรัฐธรรมนูญ ขณะนี้ต้องจับตาว่ากองทัพจะดำเนินการอย่างไรต่อไป อาจมีการประกาศให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ไม่จัดเลือกตั้งใหม่ในช่วง 1 ปี จัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว หรือตั้งสภากลาโหมมาจัดการปัญหาภายในประเทศ ในขณะที่ก่อนหน้านี้กองทัพเคยพยายามจัดตั้งรัฐบาลผสม แต่เอ็นแอลดีได้เสียงข้างมากขนาดนี้ไม่จำเป็นต้องรับดีล

ขณะนี้ สิ่งที่เมียนมาทำอย่างแรกคือ ตัดสัญญาณโทรศัพท์ ปิดสนามบิน ตัดสัญญาณโทรทัศน์ ขณะนี้รอว่าจะตัดอินเทอร์เน็ตเมื่อไหร่ ซึ่งการรัฐประหารเช่นนี้ แม้บางคนจะไม่ชอบซูจี แต่หลายคนก็ไม่ชอบที่กองทัพทำเหมือนกัน


ทั้งนี้ เมียนมาอาจต้องเร่งจัดการปัญหาภายในประเทศก่อน ท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 และวิกฤตเศรษฐกิจ จึงอาจยังไม่เห็นภาพการออกมาประท้วงของประชาชน 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

สื่อนอก รายงาน "ปธน.เมียนมา - อองซาน ซูจี" ถูกควบคุมตัว

โซเชียลติดตามรัฐประหารเมียนมา #SaveMyanmar

"กองทัพเมียนมา" รัฐประหาร ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 1 ปี

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง