"หมอยง" จี้ฉีดวัคซีนโควิด ก่อนเชื้อ GH ระบาดในไทยกลายพันธุ์

สังคม
22 มี.ค. 64
12:17
607
Logo Thai PBS
"หมอยง" จี้ฉีดวัคซีนโควิด ก่อนเชื้อ GH ระบาดในไทยกลายพันธุ์
"หมอยง" ระบุการให้วัคซีน COVID-19 เร็วที่สุด จะช่วยเรื่องการกลายพันธุ์ของเชื้อได้ เพราะที่ผ่านมาพบว่า เชื้อกลายพันธุ์ส่งผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีน

วันนี้ (22 มี.ค.2564) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovowan  ระบุถึงการกลายพันธุ์ของ COVID-19 กับวัคซีน โดยระบุว่าที่ผ่านมาโควิด ไวรัสมีการกลายพันธุ์มาโดยตลอด จากจุดกำเนิดอยู่ที่ประเทศจีน สายพันธุ์ S สายพันธุ์ L ไปเจริญเติบโตเป็นสายพันธุ์ G ในยุโรป แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว แต่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงความรุนแรง หรือมีผลในระบบภูมิต้านทาน และแตกแยกย่อยเป็นสายพันธุ์ต่างๆ

ต่อมาสายพันธุ์ GR ได้มีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรม เป็นสายพันธุ์ GRY หรือสายพันธุ์อังกฤษ ซึ่งขณะนี้แพร่กระจายอย่างมากในยุโรป และเข้าสู่สหรัฐอเมริกา

ส่วนอีก 2 สายพันธุ์ที่พูดถึงกันบ่อย คือ สายพันธุ์แอฟริกาใต้ และสายพันธุ์บราซิล ทั้ง 2 สายพันธุ์นี้ มีการเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งสำคัญของกรดอะมิโน ที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิต้านทาน แม้ว่าจะไม่ทำให้โรครุนแรงขึ้น แต่การแพร่กระจายก็สามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นที่ต้องระวัง เพราะจากการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนที่ผ่านมา พบว่ามีประสิทธิภาพลดลง

เชื้อกลายพันธุ์ส่งผลต่อวัคซีน

การกลายพันธุ์ที่จะต้องคํานึงถึง คือทำให้ไวรัส หรือโรคแพร่กระจายได้ง่ายขึ้น ลดประสิทธิ ภาพของวัคซีนเพิ่มหรือลดความรุนแรงของโรค ในแต่ละการกลายพันธุ์ จึงจำเป็นต้องมีข้อ มูลทางคลินิก และระบาดวิทยาเข้ามาทำการศึกษาร่วมด้วย

สำหรับไทยการระบาดในครั้งแรก เป็นสายพันธุ์ S แต่การระบาดในครั้งนี้ที่เรียกว่าระบาดรอบใหม่ เป็นสายพันธุ์ GH และถ้าระบาดไปนานๆเข้า ก็จะต้องจับตามองว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางทิศทางใด

 

ส่วนสายพันธุ์ที่มีผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีน อย่างเช่นสายพันธุ์แอฟริกาใต้ รวมทั้งสายพันธุ์ที่กำลังตรวจสอบอย่างเช่นสายพันธุ์ไนจีเรีย ก็มีจุดสำคัญในตำแหน่งที่จะทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง จะต้องป้องกันไม่ให้มาระบาดในประเทศไทยการให้วัคซีนเร็วที่สุดจะช่วยลดการระบาด และการกลายพันธุ์ได้ 

ขณะนี้งานวิทยาศาสตร์สามารถถอดรหัสพันธุกรรมของไวรัสได้อย่างรวดเร็ว และมีการทำกันมากทั่วโลกเป็นประวัติการ ของการศึกษาไวรัส เมื่อเทียบกับในอดีตที่ผ่านมา ไม่เคยมีไวรัสตัวไหนที่มีการถอดรหัสพันธุกรรมมากมายเท่ากับไวรัส COVID-19 ที่ทำกันมากทุกวันนี้ มนุษย์เองก็ต้องการที่จะเอาชนะไวรัสให้ได้ ไวรัสเองก็พยายามที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อความอยู่รอดของตัวเอง และในที่สุด จะต้องอยู่ร่วมกัน โดยทำร้ายกันให้น้อยที่สุด

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

กทม.ลุยตรวจเชิงรุกย่านบางขุนเทียน พบติดเชื้อเพิ่ม 28 คน

"โมเดอร์นา" เริ่มทดสอบวัคซีนโควิดกับเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง