เครียดรอผลตรวจ! ลดเสี่ยงติดเชื้อ คนป่วยเต็มโรงพยาบาล

สังคม
12 เม.ย. 64
10:38
4,167
Logo Thai PBS
เครียดรอผลตรวจ! ลดเสี่ยงติดเชื้อ คนป่วยเต็มโรงพยาบาล

องค์กรแห่งหนึ่งมีผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 นอกจากคัดกรองกลุ่มเสี่ยงสูง กลุ่มเสี่ยงปานกลาง และกลุ่มเสี่ยงต่ำแล้ว เพื่อความปลอดภัย องค์กรจะให้มีการตรวจเชิงรุกเพื่อความปลอดภัย

โรงพยาบาลนำเจ้าหน้าที่มาตรวจคัดกรองแบบเร็ว หรือ แหย่จมูก-ปาก แบบที่เห็นหันทั่วไป

หลังการตรวจเจ้าหน้าที่บอกว่า จะรู้ผลภายใน 48 ชั่วโมง นั่นหมายความว่า ถ้าตรวจวันที่ 9 เม.ย. ก็จะรู้ผลในวันที่ 10 เม.ย.หรือไม่เกินวันที่ 11 เม.ย.

หลังการตรวจผ่านไป 30 ชั่วโมง ผลเริ่มทยอยออกมา โรงพยาบาลแจ้งด้วยข้อความสั้น มายังผู้รับการตรวจ ระบุว่า

เรียน คุณ... ผลตรวจหา COVID วันที่....เดือน....พ.ศ....ของท่าน....ไม่พบเชื้อ

สิ่งสำคัญไม่ใช่ว่าผลตรวจจะออกมาอย่างไร แต่เป็นความเครียดระหว่างการรอคอย

จากการสังเกตในโซเชียลมีเดีย พบว่า หลังได้รับผลตรวจโรค และพบว่าไม่ติดเชื้อ ผู้รับการตรวจ ต่างแสดงความรู้สึกต่างๆ นานา

เช่น
- รอนานๆ ก็อาจจะบั่นทอนหัวใจ อย่าให้นานเกินไป ก่อนอะไรมันอาจจะสาย
- การันตีความปลอดภัยไปอีกหนึ่งระดับ เพื่อความอุ่นใจต่อตัวเองและคนรอบข้าง
- ไม่ต้องเขียน Timeline แล้ว
- ไม่เคยรออะไรที่ยาวนานขนาดนี้ #รอดแล้ว
- รอของตัวเองแล้วยังต้องลุ้นของเพื่อนด้วย เพื่อนรอด เรารอด เพื่อไม่รอด เรากักตัว


- ลุ้นยิ่งกว่า ลุ้นหวยรางวัลที่ 1
- รอหวยออก ยังรู้กำหนดเวลาเนอะ
- รอดครั้งนี้การ์ดจะไม่ตก รอนานมากแต่ก็รอด
- 54 ชั่วโมงสิ้นสุดการรอคอย รอด!
- ผลออกมาไม่พบเชื้อ แต่ต้องกักตัวเองให้ครบ 14 วัน ตามกฎกติกาและความรับผิดชอบต่อสังคม
- รอดเมื่อไหร่จะแก้บน

การรอผลตรวจเชื้อสร้างความเครียดให้กับคนรอเป็นอย่างมาก และคาดเดาไปต่างๆ นานา เพราะการไปตรวจนั่นคือ ต้องคิดว่า “ตัวเองเสี่ยงจะติดเชื้อ” จึงพาลระแวงว่า ติดมาจากไหน เมื่อไหร่ อย่างไร ฯลฯ

ฉะนั้นก่อนที่จะเข้าข่ายสุ่มเสี่ยง และต้องตรวจ หรือแม้แต่ตรวจแล้วว่า “ไม่พบเชื้อ” เพื่อเลี่ยงความเครียด ความกังวลใจ และสามารถใช้ชีวิตอย่างปกติสุขได้

ควรใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวังอย่างมากที่สุด

- สวมหน้ากาก 100 %
- ล้างมือบ่อยๆ
- ไม่ไปในที่แออัด หรือสุ่มเสี่ยง
- กินร้อน ช้อนเรา
- อยู่ในที่พักให้มากที่สุด

เพราะล่าสุดวันที่ 11 เม.ย.พบว่า ทั่วประเทศมีจังหวัดที่ไม่มีผู้ติดเชื้อเหลือเพียง 7 จังหวัดเท่านั้น ขณะที่รอบแรก มีจังหวัดที่ไม่มีผู้ติดเชื้อเลย 11 จังหวัด

นั่นเท่ากับว่า การแพร่ระบาดในรอบนี้ เป็นไปอย่างรวดเร็ว และกระจายตัวมากขึ้น

ไม่เพียงแต่การดูแลตัวเองให้ปลอดจากการติดเชื้อ การรอผลตรวจแล้ว แต่ต้องกังวลใจด้วยว่า หากเกิดอะไรขึ้น ความเสี่ยงที่ตามมาในขณะนี้ คือ ไม่ใช่เราจะเดินเข้าไปรักษาที่โรงพยาบาลไหนก็ได้

เพราะโรงพยาบาลส่วนใหญ่ “เตียงเต็ม”
ทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งปฏิเสธการรับตัวผู้ติดเชื้อ จนมีการร้องเรียนเกิดขึ้นมากมาย

กรมการแพทย์ ต้องเปิดสายด่วน 1668 เพื่อให้ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีโรงพยาบาลรักษา สามารถแจ้งได้

ขณะที่อีกภาพสะท้อนที่ออกมาในตอนนี้คือ การตั้ง “โรงพยาบาลสนาม” กว่า 10,000 เตียง เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อ ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก

นั่นหมายความว่า การประเมินทางการแพทย์ อาจคาดการณ์ว่าสถานการณ์จะเลวร้ายลง ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นมากในแต่ละวัน

ซึ่งล่าสุดวันที่ 11 เม.ย.จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ถึง 967 ราย

ฉะนั้นสิ่งที่ดีที่สุดในตอนนี้คือ “ดูแลตัวเองให้ปลอดภัย” และ “ไม่ติดเชื้อ”
เพราะไม่มีใครจะดูแลตัวเราได้เท่ากับตัวเราเอง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง