เยียวยาโควิด ไม่ยั่งยืน?

เศรษฐกิจ
20 เม.ย. 64
12:51
506
Logo Thai PBS
เยียวยาโควิด ไม่ยั่งยืน?
บาดแผลทางเศรษฐกิจ จากวิกฤต COVID-19 รอบก่อนยังไม่ทันจะหายดี การระบาดระลอกที่ 3 มาซ้ำแผลเดิม โดยการระบาดแต่ละรอบ มักตามมาด้วยเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลเยียวยาผลกระทบที่ได้รับ

วันนี้ (20 เม.ย.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การระบาด COVID-19 เมื่อช่วงต้นปี 2563 มาตรการหลักๆ ในการเยียวยา คือเราไม่ทิ้งกัน และการเยียวยาเฉพาะกลุ่มต่างๆ วงเงิน 252,000 ล้านบาท ส่วนในช่วงสิ้นปี 2563 เกิดการระบาด COVID-19 อีกครั้ง รัฐบาลออกมาตรการ "เราชนะ" และ "ม.33 เรารักกัน" วงเงิน 247,000 ล้านบาท พร้อมลดค่าใช้จ่าย อย่างค่าน้ำ ค่าไฟ ตลอดจนเลื่อนจ่ายภาษี

 

มาส่องกระเป๋าเงินของรัฐบาลวันนี้ว่าเหลือเงินเท่าไร? ปรากฏว่ามีในกระเป๋าประมาณ 300,000 ล้านบาท แบ่งเป็นงบกลาง 20,000 ล้านบาท งบฉุกเฉิน 80,000 ล้านบาท และวงเงินกู้ใน พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เฉพาะส่วนการเยียวยา 200,000 ล้านบาท

ยืนยันมีเงินดูแลเยียวยาโควิดเพียงพอ

นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังมีแผนเสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณามาตรการเยียวยาผลกระทบ จากการระบาด COVID-19 รอบ 3 เร็วๆ นี้ และยืนยันว่ารัฐบาลมีเงินดูแลเยียวยา ภายใต้กรอบปีงบประมาณ 2564 อย่างเพียงพอ โดยไม่ต้องตั้งเรื่องดึงเงินส่วนราชการ กลับมาอยู่ในงบกลาง เหมือนวิกฤต COVID-19 รอบแรก

สำนักงบประมาณ ยังเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2565 ซึ่งในร่างฯ ดังกล่าว ยังคงบวกความเสี่ยงจาก COVID-19 โดยตั้งงบกลางฯ รองรับ 89,000 ล้านบาท ควบคู่การตัดลดงบประมาณส่วนราชการ และให้บริการบนแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น

 

ทั้งนี้ กระบวนการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี กรรมาธิการอาจทบทวนวงเงินรายจ่ายส่วนราชการ มาตั้งงบกลาง เพื่อแก้ปัญหา COVID-19 เพิ่มเติมอีกประมาณ 10,000 ล้านบาท

ประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับว่าเป็นห่วงปัญหาเศรษฐกิจที่จะได้รับผลกระทบจากการระบาดรอบใหม่ แต่หากรัฐบาลเลือกวิธีแจกเงินอย่างต่อเนื่อง อาจไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะยาว

"เพื่อไทย" เสนอเร่งส่งออกเพิ่มจ้างงาน

รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ระบุว่า 1 ปีที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก. 3 ฉบับ วงเงิน 1,900,000 ล้านบาท เม็ดเงินไหลลงเศรษฐกิจไม่มาก และยังพบการทุจริตและช่องโหว่ จึงเสนอให้รัฐเร่งการส่งออก เพื่อช่วยการจ้างงาน พร้อมดึงเงินลงทุนจากเศรษฐี หรือคนรวย

"ทีดีอาร์ไอ" ชงเยียวยาคนหาเช้ากินค่ำ

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ เสนอว่ารัฐบาลต้องกู้เงินเพิ่ม วงเงินประมาณ 2,400,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการแก้ไขปัญหาระยะสั้น โดยเฉพาะกลุ่มร้านค้า หาบเร่ แผงลอย คนหาเช้ากินค่ำ ประมาณ 30 ล้านคน

โดยช่วยเหลืออย่างน้อยร้อยละ 50-60 ของรายได้ขั้นต่ำ ซึ่งการเยียวยา 3-4 เดือนจะใช้เงินประมาณ 400,000 ล้านบาท อีกส่วนหนึ่ง 2,000,000 ล้านบาท เป็นการรองรับการลงทุนระยะยาวหลัง COVID-19

 

ไม่เพียงการเตรียมเงินงบประมาณเยียวยาดูแลเศรษฐกิจ รัฐบาลได้จัดสรรงบกลาง ภายใต้งบประมาณปี 2564 สำหรับจัดซื้อวัคซีน 63 ล้านโดส คิดเป็นเงินมากกว่า 6,000 ล้านบาท ซึ่งการฉีดวัคซีนเป็นความหวังสำคัญ ที่จะช่วยรักษาบาดแผลทางเศรษฐกิจ ได้ดีกว่าการจ่ายเงินเยียวยาทุกระลอกไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง