วัคซีนลัมปี สกิน ล็อตแรก 6 หมื่นโดสถึงไทย เร่งฉีดคุมพื้นที่ระบาด

ภูมิภาค
31 พ.ค. 64
19:11
2,913
Logo Thai PBS
วัคซีนลัมปี สกิน ล็อตแรก 6 หมื่นโดสถึงไทย เร่งฉีดคุมพื้นที่ระบาด
วัคซีนโรคลัมปี สกิน ล็อตแรก 60,000 โดส ถึงไทยเร่งฉีดคุมพื้นที่ระบาด ที่ จ.กาฬสินธุ์ เตรียมประกาศเป็นเขตประสบพิบัติภัยโรคระบาดสัตว์ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ หลังพบโค-กระบือ ป่วย ตายจำนวนมาก พร้อมฉีดวัคซีนทันทีหากได้รับการจัดสรร

วันนี้ (31 พ.ค.2564) นายสนั่น พงษ์อักษร รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ นายสุทิน กาญจนรัช ปศุสัตว์ จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยตัวแทนสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.กาฬสินธุ์ ตัวแทนสำนักงานท้องถิ่นจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชุมร่วมกันเพื่อติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน ในโคและกระบือ พร้อมร่วมกันหารือระเบียบในการประกาศเป็นเขตประสบภัยพิบัติโรคระบาดสัตว์ และวางแนวทางในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดดังกล่าว

นายสุทิน กาญจนรัช ปศุสัตว์ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า สถานการณ์โรคลัมปี สกินในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ขณะนี้พบการแพร่ระบาดทั้ง 18 อำเภอทั้งจังหวัด ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 19 ก.พ.- 29 พ.ค.2564 มีสัตว์ป่วยสะสม 9,994 ตัว แบ่งเป็นโคเนื้อ 9,978 ตัว โคนม 6 ตัว กระบือ 10 ตัว สัตว์ตาย 338 ตัว เกษตรกรได้รับผลกระทบ 5,586 คน และขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการให้ปศุสัตว์แต่ละอำเภอลงพื้นที่สำรวจ และรายงานเข้ามา เพื่อที่จะสรุปข้อมูลอย่างละเอียดอีกครั้ง

ส่วนมาตรการต่างๆ ที่จะช่วยเหลือ ชดเชย และเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงโค กระบือที่ได้รับผลกระทบสัตว์ป่วยและตายนั้น เริ่มแรกได้ดำเนินการป้องกันและควบคุมโรค ซึ่งทางจังหวัดได้ประกาศให้เป็นเขตโรคระบาดในสัตว์ชนิดโรคลัมปี สกิน ประเภทโค กระบือ สั่งห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ออกนอกหรือนำเข้ามาในจังหวัด ให้สัตว์อยู่กับที่และเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเพิ่มเติม เนื่องจากตัวสัตว์เป็นพาหะนำโรค โดยมีสาเหตุจากแมลงต่างๆ ที่ดูดเลือด ทั้งเหลือบ เห็บ หมัด แมลงวันคอก

โดยเฉพาะยุงลายที่เป็นสาเหตุหลัก ซึ่งควบคุมค่อนข้างยาก โดยวิธีป้องกันตามหลักการแล้วจะต้องไม่ให้สัตว์ที่ป่วยเป็นโรคอยู่ร่วมกับสัตว์ปกติ ควรแยกออกจากกัน ใช้ยาทาตามตัว ซึ่งทางปศุสัตว์ได้ประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกฉีดพ่นยาป้องกันไม่ให้แมลงหรือยุงกัดหลายพื้นที่แล้ว

กาฬสินธุ์เตรียมประกาศเขตประสบภัยโรคระบาดสัตว์

นายสุทิน ระบุว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจในทุกพื้นที่ พร้อมทั้งหารือกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะประกาศให้พื้นที่กาฬสินธุ์เป็นเขตประสบภัยพิบัติโรคระบาดสัตว์ และหาแนวทางชดเชย เยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ

ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับวัคซีนมาแล้ว แต่เนื่องจากเป็นวัคซีนที่ผลิตจากเชื้อเป็น สามารถก่อโรคได้หากใช้ไม่ถูกต้อง ซึ่งจะต้องรอให้ผ่าน อย.และรอคณะกรรมการการจัดสรรวัคซีนของกรมฯ หากผ่านกระบวนการขั้นตอนดังกล่าว และได้รับการจัดสรรแล้วก็สามารถฉีดช่วยเหลือเกษตรกรได้เลย คาดว่าน่าจะประมาณสัปดาห์หน้า 

ทั้งนี้ ขอเน้นย้ำว่าสัตว์ที่เป็นโรคนี้ แม้ดูจากภายนอกแล้วจะน่ากลัว เพราะเป็นตุ่ม เป็นแผล ซึ่งโรคนี้สามารถรักษาหาย เนื้อกินได้ และไม่ติดคน เป็นเฉพาะในโค กระบือเท่านั้น และที่สำคัญเนื้อโคทุกตัวที่จะเข้าโรงฆ่าสัตว์นั้นจะต้องได้รับการตรวจโรคและสุขภาพ เพราะฉะนั้นอยากให้ประชาชนมั่นใจว่าเนื้อปลอดภัยบริโภคได้ และอยากฝากถึงเกษตรกรหากพบว่าโค กระบือของตัวเองเริ่มป่วย โดยมีอาการซึม ไม่ค่อยกินหญ้า ควรรีบแยกตัวออกจากฝูง หากเป็นไปได้ให้กางมุ้ง เพื่อที่จะไม่เป็นพาหะไปยังตัวอื่น และใช้ยาทาป้องกันทุกตัว

หนองคาย-นครราชสีมา "ลัมปี สกิน" ลามหลายอำเภอ 

ส่วนที่  จ.นครราชสีมา พบการแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน ในโคแล้ว 5 อำเภอ คือ อ.แก้งสนามนาง อ.คง อ.พิมาย อ.โนนแดง และ อ.โนนสูง พร้อมออกประกาศห้ามเคลื่อนย้ายในเขตที่พบการระบาด ขณะเดียวกัน ให้ปศุสัตว์แต่อำเภอลงพื้นที่ให้คำแนะนำแก่เกษตรกร โดยให้แยกวัวที่ติดเชื้อออกมาต่างหาก พร้อมยืนยันโรคนี้สามารถรักษาหายได้ และไม่ติดต่อสู่คน

ที่ จ.หนองคาย ภาพรวมทั้งจังหวัด พบว่าวัวควายป่วยโรคลัมปี  สกิน แล้วใน 9 อำเภอ จำนวน 1,118 ตัว และตายแล้ว 9 ตัว

 

วัคซีนโรคลัมปี สกิน ล็อตแรก 60,000 โดส

ขณะที่เมื่อวานนี้ (30 พ.ค.) วัคซีนล็อตแรกจำนวน 60,000 โดส สำหรับรักษาการติดเชื้อโรคลัมปี สกิน ในวัวถูกส่งมาถึงไทยแล้ว ด้าน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เตรียมให้กรมปศุสัตว์ จัดหาวัคซีนเพิ่มอีก 300,000 โดส

 

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เป็นครั้งแรกที่ไทยนำเข้าวัคซีนโรคลัมปี สกิน เนื่องจากเป็นโรคอุบัติใหม่ โดยพบการติดเชื้อครั้งแรกในโคเนื้อ ที่ อ.พนมไพร จ.ร้อยเอ็ด เมื่อต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีแมลงเป็นพาหะ ทำให้เกิดการแพร่ระบาดไปยัง โค กระบือของเกษตรกร 35 จังหวัด มีสัตว์ป่วย รวม 7,200 ตัว ตาย 53 ตัว กรมปศุสัตว์ จึงสั่งซื้อวัคซีนล็อตแรก 60,000 โดส

สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ ได้กำชับให้ปศุสัตว์จังหวัดฯ นำวัคซีนที่ได้รับไปฉีดโค กระบือ ในพื้นที่ที่มีการระบาดเป็นหลักอย่างเร่งด่วน โดยต้องฉีดรอบจุดเกิดโรคเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด พร้อมสั่งกรมปศุสัตว์ ให้จัดหาวัคซีนเพิ่มเติมอีก 300,000 โดส ให้เพียงพอต่อความต้องการ สร้างความมั่นคงด้านวัคซีนของไทย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรมปศุสัตว์ นำเข้าวัคซีน 6 หมื่นโดส คุม "โรคลัมปี สกิน" ระบาด 35 จังหวัด

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง