ข้อพึงระวัง! ล็อกดาวน์ที่บ้านต้อง "ล็อกเชื้อ" จับตรวจโควิดทุกคน

สังคม
19 ก.ค. 64
16:51
441
Logo Thai PBS
ข้อพึงระวัง! ล็อกดาวน์ที่บ้านต้อง "ล็อกเชื้อ" จับตรวจโควิดทุกคน
หมอเตือน! ล็อกดาวน์ที่บ้านต้องพึงระวังหาก 1 คนติดเสี่ยงยกบ้าน แนะจะมั่นใจได้ต้องตรวจเชื้อทุกคนก่อนล็อกดาวน์ ไทยพีบีเอสออนไลน์สัมภาษณ์แม่บ้าน ระบุหนุนล็อกดาวน์-ล็อกเชื้อ แต่ต้องยกระดับคุมเข้มคนในครอบครัว

วันนี้ (19 ก.ค.2564) ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะ​แพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก  Thiravat Hemachudha ว่า ล็อกดาวน์ 2564 สิ่งที่ต้องระวังและต้องทำคิดไว้เมื่อ 25/6/64 และจะเกิดล็อก 20/7/64

ภาวนาและหวังให้ได้ผล และทุกอย่างดีขึ้นบ้างการล็อกดาวน์ ที่ถ้าจะเกิดขึ้นเก็บประชาชนไว้ในบ้าน ออกมาซื้ออาหารเท่าที่จำเป็น

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ระบุในเฟซบุ๊กว่า ผลประชาชนที่ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ แน่นอนมีมากพอสมควรแล้วในทุกพื้นที่ เมื่อล็อกดาวน์ในบ้านแต่ไม่สามารถรักษาระยะห่างได้ จะด้วยไม่ทราบหรือมีข้อจำกัดก็จะแพร่ต่อในบ้าน

อยู่ด้วยกัน 10 คน ถ้ามีหนึ่งคนที่ติดเชื้อแพร่เชื้อได้โดยไม่มีอาการจะปล่อยให้ติดเชื้อทั้งหมดในช่วงเวลาล็อกดาวน์นั้น และถ้าทุกคนไม่มีอาการเมื่อปลดล็อกก็จะออกมาแพร่ต่ออีก

ทั้งนี้การล็อกปีที่แล้ว ที่ได้ผล เพราะความหนาแน่นของคนติดเชื้อไม่น่าจะเขัมขันเช่นในปัจจุบัน ซึ่งปรากฎในชุมชนแออัด เรือนจำ และในชุมชนทั่วไป รวมทั้งคนเดินไปเดินมา

ล็อก ถ้าจะทำ “ต้อง” ตรวจทุกคน ให้แน่ใจก่อน ไม่เช่นนั้นจะเป็น "บับเบิ้ล" เอาคนติดเชื้อเข้าไปรวมกับคนอื่นในบ้าน ในชุมชนแออัด และซีลต่อจนติดหมด และปล่อยออกมาใหม่

อ่านข่าวเพิ่ม "หมอธีระวัฒน์" แนะกักตัวที่บ้านทำอย่างไร?

ล็อกดาวน์-ล็อกเชื้อ ยกระดับคุมในครอบครัว 

ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์น.ส.ปัทนา ชิดสอน แม่บ้านย่านคู้บอน กล่าวว่า เห็นด้วยกับมาตรการล็อกดาวน์ที่ออกมา ถึงแม้จะไม่เข้มข้นเท่ากับปี 2563 และสถานการณ์ในปีก่อนกับปีนี้ก็ต่างกันมาก ดังนั้นเลือกที่จะล็อกดาวน์ตัวเองอยู่ที่บ้าน และลดการเดินทางและพบปะผู้คนให้มากที่สุด 

ส่วนข้อกังวลเรื่องการแพร่เชื้อภายในบ้าน เนื่องจากสามีและตัวเองได้ตรวจหาเชื้อ COVID-19 ทำให้ลดความเสี่ยงได้จุดหนึ่งเมื่อต้องอยู่ที่บ้าน ที่มีลูกสาววัย 3 ขวบ แต่ที่ผ่านมาได้ปรับพฤติกรรมที่เข้มข้นขึ้น เช่น หากออกจากบ้านกลับมาบ้านต้องเปลี่ยนเสื้อผ้า อาบน้ำทันที อยู่บ้านจะไม่ใช้แก้วน้ำของใช้ส่วนตัวร่วมกัน รวมทั้งการกินอาหารร่วมกัน แต่จะใช้วิธีการกินข้าวคนละรอบ 

พยายามป้องกันตัวเองเมื่อต้องล็อกดาวน์อยู่ที่บ้าน เพราะไม่อยากเพิ่มภาระให้แพทย์ที่ต้องดูแลคนป่วยมากขึ้น ซึ่งการอยู่บ้านแม้จะเป็นพื้นที่ปลอดภัย แต่ต้องทำให้คนในบ้านปลอดภัยด้วย 

 

ส่วนพนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง กล่าวว่า เห็นด้วยกับมาตรการล็อกดาวน์ในขณะนี้ เพราะไม่อยากออกไปเสี่ยงกับการรับเชื้อ COVID-19 แต่การทำงานอยู่บ้านยังต้องปฏิบัติตัวเหมือนอยู่ที่ทำงานอย่างเคร่งครัด ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย รักษาระยะห่างจากคนในครอบครัว ไม่กินข้าวพร้อมกัน

เพราะเราไม่แน่ใจว่า ก่อนหน้านี้เราได้รับเชื้อ COVID-19 มาแล้วหรือไม่ ซึ่งกรมอนามัยเองก็แนะนำให้ใส่หน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในบ้าน

ที่บ้านมีเด็กเล็ก และผู้สูงอายุ เป็นคนที่เสี่ยงที่สุดเพราะเป็นคนทำงาน ตอนนี้อยู่บ้านต้องสังเกตตัวเอง ต้องเฝ้าระวังเชื้อโรคทุกชนิด ไม่ให้ติดคนในบ้าน 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

รอประเมินอีก 2 เดือน ยอดผู้ติดเชื้อไม่ลด อาจต้องล็อกดาวน์เข้มข้น

ป่วยโควิดรายใหม่ 11,784 คน เสียชีวิต 81 คน

ชวน "ผู้สูงอายุ" เร่งฉีดวัคซีนโควิด-หลายจุดคิวยังไม่เต็ม

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง