ไขคำตอบ! ตรวจ ATK พบโควิดด้วยตัวเอง จัดการชีวิตอย่างไร

สังคม
3 ส.ค. 64
13:09
11,626
Logo Thai PBS
ไขคำตอบ! ตรวจ ATK พบโควิดด้วยตัวเอง จัดการชีวิตอย่างไร
ไทยพีบีเอสออนไลน์ ชวนเปิดขั้นตอนง่ายๆหากคุณตรวจเชื้อ COVID-19 ด้วยชุดตรวจ ATK ด้วยตัวเองแล้วพบว่าติดเชื้อ ต้องทำอะไรบ้าง

วันนี้ (3 ส.ค.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากศบค.ไฟเขียว ให้ประชาชนซื้อชุดตรวจหาเชื้อ หรือ ATK มาตรวจหาเชื้อโควิด-19 ได้ด้วยตัวเองนั้น

ทำให้หลายคนเริ่มจัดซื้อชุดตรวจมาตรวจเองที่บ้าน ส่วนหนึ่งเพราะร้านขายยาเริ่มวางขายมากขึ้น โดยเฉพาะในกทม.และปริมณฑล

แม้แต่ในกลุ่มไลน์ของหมู่บ้าน บางแห่งก็ใช้วิธีการซื้อแบบยกกล่อง แล้วมาแบ่งขายกันเอง ในหมู่บ้าน

ไทยพีบีเอสออนไลน์ สำรวจพบว่าในกลุ่มหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ใช้วิธีการสอบถามสมาชิกในหมู่บ้านว่า ต้องการแบ่งขายชุดตรวจ ATK ซื้อมายกกล่องละ 7,000 บาทมี 25 ชิ้นตกชิ้นละ 250 บาท ซึ่งพบว่ามีการจับจองจนเกลี้ยง เนื่องจากพบว่าสมาชิกในหมู่บ้านเองก็ติดเชื้อบ่อยขึ้น ทำให้ได้รับความนิยมซื้อนำไปตรวจหาเชื้อด้วยตัวเอง    

แต่เมื่อการเข้าถึงผลตรวจ ATK ง่ายขึ้น ก็ยังมีคำถามตามมาว่า หลายคนอาจจะยังงงว่าจะจัดการตัวเองอย่างไร ถ้าผลตรวจระบุว่า "มีผลบวก"หรือติดเชื้อ COVID-19 

ศูนย์ข้อมูล COVID-19 มีคำแนะนำว่า การตรวจเชื้อโควิด เจอผลเป็นบวกด้วยตนเอง ต้องทำอย่างไรต่อ? ไว้ดังนี้ 

  • ผู้ตรวจพบเชื้อ ติดต่อสายด่วน 1330 (สปสช.)หรือไลน์ สปสช.@nhso
  • เข้าระบบ http://crmsup.nhso.go.th ศูนย์ EOC 50 สำนักงานเขตบันทึกข้อมูลเข้า Web Application 

ขั้นตอนต่อไป หลังจากติดต่อตามข้อมูลดังกล่าวไว้แล้ว ต้องสำรวจตัวเองเพื่อให้ได้รับการคัดกรองเข้ารับการรักษา จำแนกดังนี้

  • มีอาการเริ่มต้น (สีเขียว) Home Isolation (การแยกกักตัวที่บ้าน) จำนวน 226 แห่ง
  • มีข้อจำกัดในการทำ Home Isolation (สีเหลือง) เข้า Community Isolation ศูนย์พักคอยการส่งตัว จำนวน 46 แห่ง 5,295 เตียง
  • อาการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น (สีส้ม) โรงพยาบาลสนาม Hospitelจำนวน 138 แห่ง
  • อาการรุนแรง โรงพยาบาลหลัก จำนวน 132 แห่ง

นอกจากนี้เชื่อว่าหลายคนอยากรู้ว่าถ้าเข้าระบบรักษาแล้วสิ่งสนับสนุนมีอะไรบ้าง?  

  • อาหาร 3 มื้อ
  • เครื่องวัดอุณหภูมิ
  • เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด
  • ยาจำเป็นการเยี่ยมโดยแพทย์
  • พยาบาล ผ่านระบบทางไกล

อ่านข่าวเพิ่ม เปิดบันทึก "เมื่อฉันเป็นโควิด" กับชีวิต Home Isolation

เปิดคู่มือฉบับง่ายเมื่อต้องแยกกักตัวที่บ้าน 

ขณะที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดทำคู่มือการแยกกักตัวที่บ้าน (Home isolation) ที่มาจากองค์ความรู้ของแพทย์หลายท่านช่วยกันรวบรวมข้อมูลสำคัญ เพื่อเป็นทางเลือกและแนวทางในการดูแลรักษาผู้ป่วย โดยให้ดาวน์โหลดคู่มือการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation)  http://ssss.network/rnzwu 

โดยจัดทำเป็นภาพการ์ตูนและคำอธิบายง่ายๆ เช่น ผู้ป่วยโควิดแบบไหนที่สามารถแยกกักตัวที่บ้าน คุณเป็นคนนั้นหรือไม่ ซึ่งจะมีคำอธิบาย เช่น เป็นผู้ป่วยที่ตรวจพบเชื้อแต่ไม่มีอาการ หรืออาการเล็กน้อย และอีกกลุ่มเป็นผู้ป่วยที่รักษาตัวหายมาแล้วอย่างน้อย 7-10 วัน อาการดีขึ้น หมอยินยอมให้รักษาตัวที่บ้านต่อ

 

นอกจากนี้ยังมีคำแนะนำเรื่องข้าวของ และอุปกรณ์ที่จำเป็น ข้อปฏิบัติตัวเมื่อต้องแนกกักตัวที่บ้าน เช่น ทนเหงาหน่อย เพราะห้ามคนมาเยี่ยม ของใช้ส่วนตัวต้องไม่แบ่งใคร ดื่มน้ำพักผ่อนอย่างเพียงพอ แม่ให้นมลูกได้ รวมทั้งการรักษาความสะอาด แยกขยะ เป็นต้น

สำหรับตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 ซึ่งเข้าสู่ระบบการรักษาแล้ว สปสช.รายงานข้อมูลเมื่อเวลา 11.00 น.ภาพรวมการนำส่งผู้ป่วยเข้าสู่บริการ Home Isolation พื้นที่กทม.จำนวนเคสสะสม 57,155 คนจับคู่ PCU ได้แล้ว 55,716 เคส  PCU ตอบรับสะสม 52,490 เคส  ยังจับคู่ไม่ได้ 1,439 เคส รอ PCU ตอบรับ 3,226 เคส และอยู่ในระบบ Home Isolation แล้ว 47,043 เคส 

หมายเลขติดต่อสำนักงานเขตกทม.50 เขต 

โดยพบว่า 10 พื้นที่ในกทม.ที่เข้าระบบ Home Isolation มากที่สุด ได้แก่ ปทุมวัน คันนายาว  ป้อมปราบศัตรูพ่าย  ภาษีเจริญ บางเขน  ดอนเมือง บางกะปิ ยานนาวา คลองสามวา 

นอกจากนี้ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข รวมหมายเลขโทรศัพท์ ประจำเขต 50 เขต สำหรับการสอบถามเรื่องการทำ Home Isolation และ Community Isolation ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งข้อมูลวันนี้พบมีการเข้าระบบแล้ว แล้ว 47,043 เคส 

 

 

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอดหายป่วยกลับบ้านเพิ่ม 18,590 คน ติดเชื้อเพิ่ม 18,901 คน

"แยกขวดช่วยหมอ" เฟส 4 ชวนบริจาคขวดเพ็ทตัดชุด PPE มอบ รพ.สีแดงเข้ม

   
 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง