"อนุทิน" จ่อออก กม.นิรโทษกรรม ผู้ปฏิบัติงานโควิดไม่ถูกฟ้องร้อง

สังคม
9 ส.ค. 64
14:50
3,559
Logo Thai PBS
"อนุทิน" จ่อออก กม.นิรโทษกรรม ผู้ปฏิบัติงานโควิดไม่ถูกฟ้องร้อง
"อนุทิน ชาญวีรกูล" ชี้แจงเตรียมออก พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วย COVID-19 เสริมภูมิคุ้มกันผู้ปฏิบัติงานสู้ COVID-19 ไม่ถูกฟ้องร้อง

จากกรณีการวิพากษ์วิจารณ์การเตรียมออก พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วย COVID-19 เป็นการนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งให้คณะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาและบริหารวัคซีน COVID-19

วันนี้ (9 ส.ค.2564) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับกรณีดังกล่าวว่า กฎหมายดังกล่าวมีเจตนารมณ์ที่จะให้ผู้รับผิดชอบเรื่องการบริหารจัดการ การจัดบริการทางแพทย์ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับงาน COVID-19 ทั้งหมด ได้ปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ในภาวะวิกฤตด้านสาธารณสุขของประเทศ โดยไม่ต้องกังวลกับความรับผิดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นโดยเจตนาดีของผู้ปฏิบัติงาน

เราไม่ต้องการให้แพทย์ พยาบาลวิตกกังวลหากถูกฟ้องร้อง แม้มั่นใจว่าชนะ ก็ยังมีความวิตกกังวลระดับหนึ่ง เราต้องการให้แพทย์ พยาบาล มีขวัญกำลังใจเต็มที่จะได้ทุ่มเทในการรักษาพยาบาล

หากเป็นการกระทำโดยสุจริต ไม่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม บุคลากรดังกล่าวก็ไม่ต้องรับผิด รวมถึงหากผู้ที่ได้รับมอบหมายในการเจรจาหรือจัดหาวัคซีน มีเจตนาสุจริต การตัดสินใจดำเนินการเป็นไปตามหลักวิชาการที่สนับสนุนในขณะนั้น กฎหมายนี้จึงเห็นควรให้ความคุ้มครองบุคคลหรือคณะบุคคลเหล่านั้นด้วย

ทั้งนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนที่เตรียมรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่าง ๆ ยังไม่ได้มีการเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด

ตั้งคณะกรรมการยกร่าง - พร้อมรับฟังทุกความเห็น

สอดคล้องกับ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ระบุว่า COVID-19 ถือว่าเป็นภัยพิบัติต่อสาธารณะ และเป็นโรคอุบัติใหม่ ดังนั้น วิธีการ อุปกรณ์ ยารักษา ไปจนถึงวัคซีนจึงเป็นเรื่องที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์และข้อมูลทางวิชาการ

อีกทั้งตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้สถานพยาบาลอาจไม่พร้อมรองรับผู้ป่วย แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นเพราะข้อจำกัดของปัจจัยทรัพยากรด้านสาธารณสุขจนทำให้อาจดูแลผู้ป่วยได้ไม่ทั่วถึงแม้จะรวมทรัพกำลังกันอย่างเต็มที่

การมีภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันการถูกฟ้องร้องให้บุคลากรด่านหน้าจะสร้างขวัญและกำลังใจในการทำงาน นี่เป็นเรื่องสำคัญ ที่มีข้อเสนอจากองค์การและสภาวิชาชีพ รวมถึงสมาคมโรงพยาบาลเอกชน

เบื้องต้น กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งคณะกรรมการยกร่าง โดยมอบหมายให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพเป็นหน่วยงานหลัก และมีตัวแทนจากภาคส่วนต่าง ๆ มาช่วยดูเพื่อให้มีกลไกคุ้มครองผู้ทำงานในช่วงระบาดในภัยพิบัติได้ทำงานอย่างเต็มที่

พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดฯ ครอบคลุมใครบ้าง ?

นพ.ธเรศ ระบุอีกว่า กฎหมายนี้ครอบคลุมจำกัดความรับผิดของบุคลากรสาธารณสุขในแขนงต่าง ๆ ทั้งผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบโรคศิลปะแขนงต่างๆ  อาสาสมัครต่าง ๆ ที่มาช่วยทำงาน บุคคลที่มีส่วนช่วยจัดหาวัสดุอุปกรณ์การแพทย์ ยา และวัคซีน 

สถานที่ที่คุ้มครอง คือ สถานพยาบาลทั้งรัฐ และเอกชน โรงพยาบาลสนาม หรือในพื้นที่เฉพาะสำหรับดูแลผู้ป่วย ซึ่งการดูแลการคุ้มครองนั้น บุคลากรต้องทำในสถานพยาบาล หรือนอกสถานพยาบาลที่กำหนด และการดูแลรักษาต้องเพื่อประโยชน์สาธารณะ และทำภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน

ทั้งนี้ การดูแลคุ้มครองไม่ใช่ทุกกรณี แต่ต้องอยู่ในกรอบการกระทำเป็นไปด้วยสุจริต ยกเว้นกรณีประมาทเลิ่นเล่ออย่างร้ายแรง ทำให้เกิดความเสียหาย พร้อมยืนยันว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นเจตนารมณ์มุ่งให้ประชาชนได้รับการดูแลมากที่สุด

ตอนนี้ยังอยู่ในฉบับร่าง จึงยินดีรับฟังความเห็นทุกอย่างเพื่อปรับปรุงให้ดีที่สุด ยืนยันว่า บุคลากรและอาสาสมัครทุกคนตั้งมั่นดูแลประชาชนอย่างเต็มที่ 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง