"เด็กวัยเรียน-วัยรุ่น" ติดโควิดมากขึ้น ส.ค.เดือนเดียว 69,628 คน

สังคม
14 ก.ย. 64
15:17
3,208
Logo Thai PBS
"เด็กวัยเรียน-วัยรุ่น" ติดโควิดมากขึ้น ส.ค.เดือนเดียว 69,628 คน
อธิบดีกรมอนามัยเผยข้อมูล "เด็กวัยเรียนและวัยรุ่น" อายุ 6-18 ปี ติดโควิดเพิ่มมากขึ้น เฉพาะเดือน ส.ค.มีเด็กติดเชื้อมากถึง 69,628 คน แม้ยังไม่เปิดให้เรียนในโรงเรียน

วันนี้ (14 ก.ย.2564) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มเด็กวัยเรียนและวัยรุ่น (อายุ 6-18 ปี) ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. - 11 ก.ย.2564 มีผู้ติดเชื้อสะสม 129,165 คน โดย 90% เป็นคนไทย และอีก 10% เป็นคนต่างชาติ และมีผู้เสียชีวิตสะสม 15 คน ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว

สาเหตุที่ติดเชื้อส่วนใหญ่เกิดจากการสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน และส่วนหนึ่งมาจากการค้นหาเชิงรุก ส่วนจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อสูงสุดคือกรุงเทพฯ รองลงมาคือ สมุทรปราการ ชลบุรี สมุทรสาคร นนทบุรี สงขลา นราธิวาส นครปฐม ปัตตานี และราชบุรี

ผู้ติดเชื้อที่เป็นกลุ่มเด็กวัยเรียนและวัยรุ่น ในเดือน เม.ย.มีจำนวน 2,426 คน, เดือน พ.ค.เพิ่มขึ้น 6,432 คน, เดือน มิ.ย. 6,023 คน, เดือน ก.ค. 31,377 คน และเดือน ส.ค. 69,628 คน

"ทำให้เห็นแนวโน้มผู้ในติดเชื้อในกลุ่มเด็กวัยเรียนและวัยรุ่น แม้ยังไม่มีการเปิดให้เรียนในโรงเรียน แต่ยังพบการติดเชื้อ นั่นหมายความว่าการติดเชื้อส่วนหนึ่งเกิดจากการติดเชื้อในครอบครัว กับการเดินทางไปสัมผัสกับผู้ติดเชื้อยืนยัน" นพ.สุวรรณชัย กล่าว

ส่วนของเด็กอายุ 12-18 ปี ที่มีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดในกลุ่มที่มีโรคประจำตัว ข้อมูลเมื่อวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา มีเด็กได้รับวัคซีนไฟเซอร์ เข็มแรก 74,932 คน และเข็มสอง 3,241 คน

 

ขณะที่ นพ.เฉวตสรร นามวาท ผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค ระบุว่า เดือน ต.ค.นี้จะเริ่มฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้นักเรียนชั้น ม.1-6 นักศึกษา ปวช.-ปวส. หรือเทียบเท่า ทุกสังกัดทั้งภาครัฐและเอกชน โดยจะเริ่มฉีดเข็มแรกตั้งแต่เดือน ต.ค. และเข็มที่ 2 ห่างกัน 3-4 สัปดาห์ โดยวัคซีนไฟเซอร์จะทยอยนำเข้ามาจนครบ 30 ล้านโดสภายในปลายปีนี้

พร้อมยอมรับว่า การฉีดวัคซีนให้เด็กในต่างประเทศอาจพบอาการไม่พึงประสงค์หลังการฉีด แต่มีโอกาสไม่มากนัก และข้อมูลจากประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่า จะเกิดภาวะเยื้อหุ้มหัวใจอักเสบในอัตรา 50 ต่อ 100,000 คน

Sandbox Safety Zone in School (SSS)

นพ.สุวรรณชัย กล่าวถึงสถานศึกษาที่จะเข้าร่วมโครงการ Sandbox Safety Zone in School (SSS) ในส่วนของโรงเรียนประจำ ว่า จะต้องมีความพร้อม เป็นไปด้วยความสมัครใจ รวมถึงหารือกับผู้ปกครองและชุมชนให้เห็นพ้อง และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด

สำหรับนักเรียนที่จะมาเรียนในโรงเรียน (On Site) จะกำหนดให้ตรวจ ATK ก่อนเข้าโรงเรียน และให้นักเรียนที่อยู่ในโรงเรียนทำกิจกรรมร่วมกันในรูปแบบ Bubble & Seal เป็นกลุ่มๆ แต่ละกลุ่มไม่มาสัมผัสกัน และหากมีการเดินทางจะกำหนดให้เดินทางภายใต้การควบคุมกำกับ

นักเรียน ครูและบุคลากร จะต้องประเมินความเสี่ยงเป็นระยะในแอปพลิเคชันไทยเซฟไทย หรือแอปฯ อื่นๆ ที่โรงเรียนดำเนินการได้ และที่สำคัญครูและบุคลากรจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมมากกว่า 85% รวมถึงสุ่มตรวจ ATK ทุก 14 วัน หรือ 1 เดือนต่อภาคเรียน ขณะที่สถานศึกษาสามารถจัดการเรียนการสอนได้ทั้งในโรงเรียนและออนไลน์ แต่หากมีความจำเป็นต้องปิดเรียน ให้สถานศึกษาปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุของ สธ.อย่างเคร่งครัด

ผลจากการดำเนินงาน Sandbox Safety Zone in School ในโรงเรียนประจำ พบว่า การดำเนินการเป็นไปได้ด้วยดี แม้จะพบผู้ติดเชื้อ แต่ก็เป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่ได้เกิดจากปัจจับในส่วนของทางโรงเรียน แต่เกิดจากการไปสัมผัสกับผู้ติดเชื้อที่อยู่นอกโรงเรียน และมีการตรวจจับได้

 

ขณะที่แนวทางการจัด Sandbox Safety Zone in School ในโรงเรียนไป-กลับ จะคำนึงถึงสถานการณ์การระบาดในพื้นที่ที่โรงเรียนตั้งอยู่เป็นอันดับแรก โดยใน "จังหวัดสีเขียว" จะเน้น (ข้อ 1) 6 มาตรการหลัก 6 มาตรการเสริม และ (ข้อ 2) 7 มาตรการเข้มสำหรับสถานศึกษา ครูและบุคลากรได้รับวัคซีนไม่น้อยกว่า 85% และประเมินความเสี่ยง 1 วันต่อสัปดาห์

โรงเรียนที่อยู่ใน "จังหวัดสีเหลือง" มาตรการข้อ 1-2 แต่จะเพิ่มการสุ่มตรวจ ATK 1 ครั้งในระยะเวลา 2 สัปดาห์ ครูและบุคลากรได้รับวัคซีนไม่น้อยกว่า 85% และประเมินความเสี่ยง 1 วันต่อสัปดาห์ ส่วนโรงเรียนที่อยู่ใน "จังหวัดสีส้ม" มาตรการข้อ 1-2 สุ่มตรวจ ATK 1 ครั้งในระยะเวลา 2 สัปดาห์ ครูและบุคลากรได้รับวัคซีนไม่น้อยกว่า 85% และประเมินความเสี่ยง 2 วันต่อสัปดาห์

 

โรงเรียนที่อยู่ใน "จังหวัดสีแดง" มาตรการข้อ 1-2 อาจไม่เพียงพอ จึงกำหนดเพิ่มอีก 3 มาตรการคือ (ข้อ 3) ให้สถานประกอบกิจการ-กิจกรรมที่อยู่รอบสถานศึกษาในระยะ 10 เมตร ต้องผ่านการประเมิน Thai Stop COVID Plus และผ่านเกณฑ์ COVID free setting, (ข้อ 4) จัดให้มี School Pass สำหรับนักเรียน ครูและบุคลากร ซึ่ง School Pass ประกอบด้วยข้อมูลผลการประเมิน ความเสี่ยงบุคคล ผลการตรวจ ATK ประวัติการได้รับวัคซีน หรือประวัติการติดเชื้อในช่วง 1-3 เดือน และมาตรการสุดท้าย (ข้อ 5) จัดกลุ่มนักเรียนต่อห้องเรียนขนาดปกติ ไม่เกิน 25 คน

นอกจากนี้ให้พิจารณาความถี่ตรวจ ATK 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ ครูและบุคลากรได้รับวัคซีนไม่น้อยกว่า 85-100% รวมถึงนักเรียนได้รับวัคซีนเพิ้มขึ้นตามมาตรการของ สธ. และประเมินความเสี่ยง 3 วันต่อสัปดาห์

ส่วนโรงเรียนที่อยู่ใน "จังหวัดสีแดงเข้ม" ให้ปฏิบัติตามมตรการข้อ 1-5 สุ่มตรวจ ATK 2 ครั้งต่อสัปดาห์ 100% รวมถึงนักเรียนได้รับวัคซีนเพิ้มขึ้นตามมาตรการของ สธ. และประเมินความเสี่ยงทุกวัน

นพ.สุวรรณชัย ย้ำว่า มาตรการดังกล่าวครอบคลุมโรงเรียนทุกสังกัด และจะต้องปรับให้สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียนและพื้นที่ตามสถานการณ์การระบาดของโควิด-19

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ดีเดย์ ต.ค.ฉีดวัคซีน 24 ล้านโดส เล็ง "ไฟเซอร์" กลุ่ม 12 ปีขึ้นไป

"อนุทิน" เผยไฟเซอร์ 2 ล้านโดสถึงไทย 29 ก.ย. เชื่อแผนฉีดเด็กไร้ปัญหา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง