จับเชฟหนุ่มลอบขายซาก “ผีเสื้อ” สัตว์คุ้มครองหายากผ่านโซเชียล

สิ่งแวดล้อม
18 ก.ย. 64
09:10
1,606
Logo Thai PBS
จับเชฟหนุ่มลอบขายซาก “ผีเสื้อ” สัตว์คุ้มครองหายากผ่านโซเชียล
กรมอุทยานฯ รวบเชฟร้านอาหาร ประกาศขายซากผีเสื้อคุ้มครองหายากใกล้สูญพันธ์ุ 6 ชนิดผ่านทางเฟซบุ๊ก เช่น ผีเสื้อไกเชอร์อิมพีเรียล นางพญากอดเฟรย์ ระบุจะนำเงินไปเปิดร้านขายข้าวแกง ถูกจับฐานครอบครอง และค้าซากสัตว์ป่าผิดกฎหมาย

วันนี้ (18 ก.ย.2564) นายนาวี ช้างภิรมย์ หัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษ 1362 กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ได้ติดตามพบผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ประกาศขายผีเสื้อ และนัดรับส่งสินค้าซากสัตว์ป่าบริเวณห้างดังย่านบางกะปิ กรุงเทพมหานคร จึงเข้าวางแผนจับกุมชายอายุ 29 ปีกำลังเอาผีเสื้อให้ผู้ซื้อดู

พบซากผีเสื้อคุ้มครอง 6 ชนิดหากยาก

จากการตรวจพบซากสัตว์ป่าคุ้มครองจำพวกสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง (แมลง) ผีเสื้อนางพญาพม่า (Stichopthalma louisa) จำนวน 3 ซาก ผีเสื้อนางพญากอดเฟรย์ (Stichopthalma godfreyi) จำนวน 1 ซาก ผีเสื้อหางดาบปีกโค้ง (Meandrusa payeni) จำนวน 1 ซาก ผีเสื้อไกเชอร์อิมพีเรียล (Teinopalpus imperialis) จำนวน 1 ซาก ผีเสื้อหางยาวตาเคียวปีกลายตรง (Actias rhodopneuma) จำนวน 1 ซาก ผีเสื้อหางยาวตาเคียวปีกลายหยัก (Actias maenas) จำนวน 1 ซาก รวม6 ชนิด 8 ซาก ราคาประเมินของกลาง จำนวน 17,400 บาท

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

เจอแจ้ง 2 ข้อหาครอบครอง-ค้าซากสัตว์ป่า

นายนาวี กล่าวว่า จากการสอบสวนชายอายุ 29 ปียอมรับว่าเป็นเชฟ ประจำที่โรงแรมและร้านอาหารญี่ปุ่น แถวสุขุมวิท แต่เนื่องจากร้านอาหารที่ทำงานอยู่ปิดกิจการ จึงนำเอาซากผีเสื้อบรรจุกรอบใช้ตกแต่งร้านและเป็นของที่หาซื้อตามตลาดทั่วไป ในท้องที่ต่างจังหวัด มาสะสมด้วยความชอบส่วนตัว เนื่องจากมีสีสันสวยงาม และจะนำผีเสื้อขายเพื่อนำเงินมาเปิดเป็นร้านขายข้าวแกง

เจ้าหน้าที่ตรวจสอบไม่มีหลักฐายการครอบครองซากสัตว์ป่าคุ้มครองจำพวกสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ชนิดผีเสื้อ และนำมาประกาศหรือโฆษณา เพื่อการค้า มีความผิดตามพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าพ.ศ.2562 มาตรา 17 มีซากสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 29 ฐานค้าซากสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต มีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

 

เจ้าหน้าที่ จึงควบคุมตัวพร้อมตรวจยึดซากสัตว์ป่าคุ้มครองส่งพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ดำเนินคดีตามกฎหมาย ส่วนซากสัตว์ป่าคุ้มครองของกลาง ขออนุมัติพนักงานสอบสวนรับมอบ ส่งให้สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช รับไปดูแลและเก็บรักษา

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

รู้จักผีเสื้อไกเซอร์อิมพีเรียล

สำหรับผีเสื้อไกเซอร์อิมพีเรียล หรือผีเสื้อไกเซอร์ ข้อมูลจากสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่ากรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช พบว่า มีความสวยงาม ตัวผู้และเพศเมียมีสีสัน ลวดลายที่ต่างกัน โดยตัวผู้มีขนาดเล็กกว่า และโคนปีกสีเขียวเข้มสะท้อนแสง ที่ปีกคู่หลังมีแถบสีเหลืองปรากฏที่กลางปีกรวมทั้งมีติ่งแหลมที่ปลายปีกคู่หลัง 1 ติ่ง ปลายติ่งสีเหลือง ส่วนตัวเมียโคนปีกสีเข้มเข้มเช่นกันส่วนปลายปีกสีเทาที่ปีกคู่หลังมีติ่งหางยาว 2 ติ่ง โดยติ่งที่ยาวที่สุดมีสีเหลืองที่ปลายติ่ง

ในประเทศไทย มีรายงานการพบเพียง 3 แห่งเท่านั้น ทั้งหมดกระจายอยู่ในภาคเหนือ และมียอดเขาสูงมากกว่า 1,800 เมตร คือ อุทยานแห่งชาติฟ้าห่มปก อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ และอุทยานแห่งชาติดอยภูคา จ.น่าน

แต่สถานภาพในไทยเป็นผีเสื้อที่หายาก ใกล้สูญพันธุ์ และทาง IUCN จัดอยู่ในสถานะใกล้ถูกคุกคาม และยังถูกจัดในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง บัญชีที่ 2 อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES)  สาเหตุของการคุกคามคือ การจับที่มากเกินไปและการทำลายป่า ที่มีระดับความสูงมากๆที่เป็นที่อยู่อาศัยของผีเสื้อไกเซอร์ชนิดนี้

 

อ่านข่าวอื่น ๆ 

ผีเสื้อของไทยที่หายไป?

ไฟป่า-รุกที่-จับขาย ต้นเหตุ "ผีเสื้อสมิงเชียงดาว" หายไปกว่า 40 ปี

"ชุดเลี้ยงหนอนผีเสื้อ" เด็กตื่นเต้น เรียนรู้โลกใหม่ในวันที่ต้องอยู่บ้าน

สอนลูกให้เข้าใจชีวิต ผ่านวงจรหนอนผีเสื้อ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง