รู้จัก "เดลตา พลัส" AY.4.2 แพร่เชื้อเร็วขึ้น 15%

สังคม
26 ต.ค. 64
10:34
3,807
Logo Thai PBS
รู้จัก "เดลตา พลัส" AY.4.2 แพร่เชื้อเร็วขึ้น 15%
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ทำความรู้จักสายพันธุ์ "เดลตา พลัส" หลังพบรายแรกในไทยที่ จ.พระนครศรีอยุธยา หมอเฉลิมชัย-หมอธีระ ระบุแพร่เชื้อเร็วกว่าเดลตา 15% พบระบาดที่อังกฤษระลอกใหม่มีคนติดเชื้อร้อยละ 6 แต่ยังไม่ข้อมูลบ่งชี้เรื่องความรุนแรงของโรค ติงไทยเพิ่มความระวังหลังเปิดประเทศ

กรณีกระทรวงสาธารณสุข รายงานพบคนไทยติดเชื้อ COVID-19 สายพันธุ์เดลตา พลัส จำนวน 1 คนรักษาหายป่วยแล้ว จะมีการแถลงรายละเอียดในเวลา 11.30 น.แต่นักวิชาการด้านสาธารณสุขหลายคน ออกมาสะท้อนความความกังวล 

นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว “ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย” ระบุถึงการพบสายพันธุ์เดลต้าพลัสในประเทศไทยว่า ไทยพบไวรัสเดลต้าพลัส (Delta Plus) รายแรกที่จ.พระนครศรีอยุธยา แพร่ระบาดเร็วขึ้น 15%

หลังจากที่มีข่าวการระบาดของไวรัสกลายพันธุ์เดลต้าพลัสในอังกฤษ โดยพบจำนวนผู้ติดเชื้อ 6% จนทางการอังกฤษจัดให้เป็น VUI (Variant Under Investigation) เนื่องจากมีความสามารถในการระบาดเพิ่มขึ้น 15% แต่ยังไม่ได้ยกระดับขึ้นเป็นไวรัสที่น่าเป็นกังวล : VOC (Variant of Concern) เพราะยังขาดข้อมูลเรื่องความรุนแรงในการก่อโรค และการดื้อต่อวัคซีน

ไวรัสเดลตา พลัส เป็นปัจจัยที่ทางอังกฤษให้ความสนใจ เพราะเกิดขึ้นในห้วงเวลาเดียวกับที่มีการระบาดระลอกใหม่ มีผู้ติดเชื้อหลายหมื่นคนต่อวัน แต่คงไม่ได้เกิดจากปัจจัยไวรัส เดลตา พลัส เพียงลำพัง แต่น่าจะเกิดจากการผ่อนคลายมาตรการของทางการอังกฤษ ร่วมกับการที่ประชาชนอังกฤษหย่อนวินัยในการป้องกันโรคระบาด

นพ.เฉลิมชัย ระบุว่า ทางกรมควบคุมโรคได้แถลงว่าพบไวรัส เดลตา พลัส ที่จ.พระนครศรีอยุธยา จากการถอดรหัสจีโนม ซึ่งทำเป็นประจำอยู่แล้ว และเคยพบว่ามีสายพันธุ์ย่อยของไวรัสเดลตาในไทย 4 สายพันธุ์ ไม่ได้มีลักษณะการแพร่ระบาด หรือความสามารถในการก่อโรครุนแรง แตกต่างกับไวรัสสายพันธุ์เดลตา ตั้งแต่เดือนส.ค.ช่วงเดือนก.ย.นี้ จากการถอดรหัสตามปกติ พบผู้ติดเชื้อที่เป็นไวรัสเดลตา พลัส (AY.4.2) 

รู้จักไวรัสกลายพันธุ์ สายพันธุ์ย่อย เดลตา พลัส  

  • COVID-19 เกิดจากไวรัสตระกูลโคโรนาลำดับที่ 7
  • ไวรัสโคโรนาเป็นไวรัสอาร์เอ็นเอ (RNA) ที่เป็นสารพันธุกรรมเดี่ยว ไม่เหมือนสิ่งมีชีวิตอื่นที่มีดีเอ็นเอ (DNA) ที่เป็นสารพันธุกรรมคู่
  • สิ่งมีชีวิตสารพันธุกรรมเดี่ยว จะมีการกลายพันธุ์ได้ง่าย
  • จากการกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนา ขณะนี้มีจำนวนโดยประมาณมากกว่า 1,000 สายพันธุ์หลักและสายพันธุ์ย่อย
  • ในการแบ่งกลุ่มไวรัสสายพันธุ์ต่างๆ จะใช้เรื่องความสามารถในการแพร่ระบาด ความรุนแรงในการก่อโรค และการดื้อต่อวัคซีน โดยกลุ่มที่ถือว่ามีความสำคัญก็คือกลุ่มที่น่ากังวล (VOC) ได้แก่ อัลฟ่า เบต้า แกมม่า และเดลตา
  • ในกลุ่มไวรัสเดลต้านั้น พบสายพันธุ์ย่อยแล้วกว่า 20 สายพันธุ์ โดยในเดือน ส.ค.ไทยพบ 4 สายพันธุ์ย่อย ซึ่งไม่มีไวรัสสายพันธุ์เดลตา พลัส
  • ไวรัสสายพันธุ์เดลตา พลัส เป็นสายพันธุ์ย่อยจากสายพันธุ์ที่เคยพบเมื่อเดือนส.ค.แล้ว ขณะนี้พบระบาดในประเทศอังกฤษ
  • ขณะนี้ประเทศไทยได้พบไวรัสเดลตา พลัสหนึ่งคน นับเป็นรายแรกที่ จ.พระนครศรีอยุธยา
  • เดลตา พลัส เป็นไวรัสสายพันธุ์ย่อย ที่พบว่ามีการระบาดกว้างขวางรวดเร็วกว่าไวรัสเดลตา 15% ส่วนความรุนแรงในการก่อโรค และการดื้อต่อวัคซีนยังไม่มีการรายงาน

โดยสรุป ไทยได้พบไวรัสสายพันธุ์เดลตา พลัสแล้ว นับเป็นรายแรกที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อรายอื่นๆ เพิ่มเติม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะแถลงรายละเอียด 26 ต.ค.นี้ 

อย่างไรก็ตาม เดลตา พลัส แพร่รวดเร็วขึ้น 15% เมื่อเทียบกับไวรัสสายพันธุ์เดลตา จึงสมควรจะต้องระมัดระวัง แต่ยังไม่ต้องตระหนกตกใจ เพียงแต่ให้ตระหนักว่าไวรัส มีความสามารถในการปรับตัวเก่งมาก มนุษย์จึงต้องต่อสู้อย่างเต็มที่ ทั้งในเรื่องวินัยในการป้องกันตนเอง การเร่งฉีดวัคซีน ตลอดจนมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลทุกประเทศจะต้องระดมออกมาเพื่อควบคุมโรคระบาดครั้งนี้ 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง ไทยพบติดโควิดสายพันธุ์ "เดลตา พลัส" 1 คน

ถอดบทเรียนอังกฤษ เจอสายพันธฺุ์เดลตา พลัส

ขณะที่ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซ บุ๊ก Thira Woratanarat ถอดบทเรียนในอังกฤษ ที่พบการระบาดของสายพันธุ์เดลตา พลัส ทำให้เกิดการ "ติดเชื้อ เพิ่มขึ้นเร็ว" ติดกันทุกเพศทุกวัย แต่พบมากในเด็กและเยาวชน ซึ่งอาจจะยังได้รับวัคซีนไม่มากนัก

ข้อมูลของนพ.ธีระ ระบุว่า ความรู้ที่มีตอนนี้เกี่ยวกับเดลตา พลัส (AY.4.2) กลายพันธุ์ต่อยอดจากสายพันธุ์เดลตา การป่วยจนต้องนอนโรงพยาบาล และการเสียชีวิต พอๆ กับเดลตา (B.1.617.2) แต่แพร่ได้ง่ายขึ้นกว่าเดลตา เดิม 17%

นอกจากนี้ยังระบุว่า อัตราการติดเชื้อภายในครัวเรือนมากขึ้นกว่าเดิม 12% (ช่วงความเชื่อมั่น 8-16%) ทั้งนี้เราทราบกันจากงานวิจัยหลายชิ้นว่า เดิมอัตราการแพร่ให้คนที่อยู่ในครัวเรือนเดียวกัน เฉลี่ยประมาณ 18-20%

ส่วนการระบาดในอังกฤษ สำหรับอังกฤษ คงจะไม่ใช่เพราะเดลตา พลัส อย่างเดียว แต่เป็นเพราะการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้ติดเชื้อได้ ดังนั้นประเทศไทย เราควรระมัดระวัง หลังเปิดประเทศ เพราะต่อให้ยังไม่มีเดลตา พลัส ก็ต้องไม่ทำให้เดลตา ระบาดมากกว่าเดิม อย่างการอยู่ห่างจากคนอื่นเกิน 1 เมตร จะลดอัตราติดเชื้อได้ 5 เท่า

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทยป่วยโควิดรายวัน 7,706 คน เสียชีวิตเพิ่ม 66 คน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง