The EXIT : เรียกรับแลกต่อสัญญาครู อบต.

การเมือง
16 พ.ย. 64
17:04
504
Logo Thai PBS
The EXIT : เรียกรับแลกต่อสัญญาครู อบต.
การให้อำนาจผู้บริหารตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ในอบต. ช่วยลดขั้นตอน ทำให้การดำเนินงานต่าง ๆ รวดเร็ว แต่ในทางกลับกัน อาจเปิดช่องให้ผู้บริหาร อบต. ใช้อำนาจที่มีเรียกรับผลประโยชน์โดยมิชอบ

กว่า 10 ปีที่นางทิพประกาฬ คนคล่อง ผู้ช่วยครูผู้ดูแลเด็กประจำศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของ อบต. แห่งหนึ่งใน จ.มุกดาหาร ต้องสู้คดีกับอดีตนายจ้างของตัวเอง หลังร้องเรียนต่อ ป.ป.ช.ว่า อดีตผู้บริหาร อบต. เรียกรับเงินกว่า 50,000 บาท แลกกับการต่อสัญญาพนักงานจ้างตามภารกิจ

 

เดือนกันยายน 2554  สัญญาการเป็นพนักงานจ้างตามภารกิจของอบต. ของนางทิพประกาฬกำลังจะสิ้นสุด  เธอได้รับแจ้งจากเพื่อนร่วมงานว่า หากต้องการต่อสัญญาต้องจ่ายเงินให้ นายก อบต. 50,000 บาท ด้วยความที่ครอบครัวมีภาระค่าใช้จ่ายสูงเพราะพ่อป่วย และตัวเองกำลังตั้งครรภ์  นางทิพประกาฬตัดสินใจขายบ้านที่ยังสร้างไม่เสร็จเพื่อนำเงินมาจ่ายให้ นายก อบต. แลกกับการต่อสัญญา แต่เงินที่ได้จากการขายบ้านก็ยังไม่เพียงพอ

เราก็เลยเข้าไปพบเขา ไปกราบเท้าแล้วบอกว่าขอลดได้ไหมเพราะลำบากจริง ๆ เขาตอบกลับมาว่าถ้าไม่มีเงินจ่ายก็ไม่เป็นไร คนที่เขาพร้อมจะจ่าย คนที่เขาอยากทำงานแทนคุณมีอีกเยอะ 

สถานการณ์บีบคั้นทำให้นางทิพประกาฬตัดสินใจร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หนึ่งในนั้นคือ ป.ป.ช.มุกดาหาร โดยใช้คลิปเสียงที่บันทึกเหตุการณ์ขณะกลุ่มผู้บริหารเรียกรับเงินเป็นหลักฐานในการร้องเรียน

ป.ป.ช.ใช้เวลาสอบสวน 7 ปี ก่อนมีมติว่า ข้อกล่าวหามีมูลความผิดทางอาญา จากนั้นในปี 2562 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 4 พิพากษาให้จำเลย ประกอบด้วย นายก อบต.และ รองนายก อบต. อีก 2 คน มีโทษจำคุก สูงสุด 7 ปี 6 เดือน ล่าสุดเดือนกรกฎาคม 2564 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลอาญา

 

ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงสิงหาคม 2564 มีคดีทุจริตในองค์การบริหารส่วนตำบล ที่ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลและศาลพิพากษาแล้ว ทั้งหมด 93 คดี ในจำนวนนี้มี 19 คดี หรือประมาณ 1 ใน 5 เกี่ยวข้องกับการจัดจ้างบุคลากรเข้าทำงานใน อบต.

อำนาจสูง-ไร้ถ่วงดุล เปิดช่องเรียกผลประโยชน์

การรับสมัครพนักงานจ้างตามภารกิจและพนักงานจ้างทั่วไปของ อบต. ต้องผ่านขั้นตอนการสอบคัดเลือก เมื่อผ่านแล้วจะเข้าสู่ขั้นตอนการสอบสัมภาษณ์โดยคณะกรรมการดำเนินการสรรหาและเลือกสรรซึ่ง นายก อบต.เป็นผู้แต่งตั้ง

การที่ นายก อบต.เป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการฯ ทำให้สามารถกำหนดได้ว่าจะรับใครเข้าทำงาน ซึ่งอาจเป็นได้ทั้ง เพื่อนฝูง เครือญาติไปจนถึงหัวคะแนนที่ช่วยหาเสียงเลือกตั้งจนชนะ

ส่วนขั้นตอนการต่อสัญญา  พนักงานจ้างตามภารกิจต้องต่อสัญญาทุก 4 ปี  พนักงานจ้างทั่วไปต้องต่อทุกปี  หัวหน้าส่วนต้องประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานปีละ 2 ครั้ง แต่ผู้ที่มีอำนาจพิจารณาว่าเห็นควรให้ต่อสัญญาหรือไม่ คือ นายก อบต.

 

นายกลยุทธ์ แสงชาติ ปลัด อบต.นาขมิ้น อ.โพนสวรรค์ จ.นครพนม บอกว่า หลายครั้งที่ พนักงานจ้างที่นายก อบต.คนเก่าเป็นผู้รับเข้ามาจะไม่ได้รับการต่อสัญญาหลังมีการเปลี่ยนนายก อบต.

พอเปลี่ยนนายกอบต.คนเหล่านี้จะไม่ได้รับการต่อสัญญา เพื่อเปิดทางให้เครือญาติหรือหัวคะแนนของนายก อบต.คนใหม่เข้ามาทำแทน บางแห่งพนักงานถึงขั้นฟ้องร้อง นายกอบต.ก็มี

หลายฝ่าย มองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อมีการใช้เส้นสายในการรับสมัครพนักงาน ก็คือ การทำงานที่ไร้ประสิทธิภาพ เพราะไม่ได้คัดเลือกผู้ที่มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริงเข้ามาทำงาน  ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นในองค์กรที่ต้องให้บริการประชาชนอย่างเช่น อบต. ย่อมส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่นั้น ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง