ไขคำตอบ! "ละอองลอยระยะใกล้" ส่งผลคลัสเตอร์โอมิครอนกาฬสินธุ์ยอดพุ่ง

สังคม
28 ธ.ค. 64
20:05
3,880
Logo Thai PBS
ไขคำตอบ! "ละอองลอยระยะใกล้" ส่งผลคลัสเตอร์โอมิครอนกาฬสินธุ์ยอดพุ่ง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"หมอนิธิพัฒน์" ไขคำตอบคลัสเตอร์กาฬสินธ์ุที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อ "โอมิครอน"สูงและตัวเลขหลักร้อย สาเหตุมาจากเชื้อโอมิครอนอาจจะแพร่กระจายได้ง่ายในลักษณะที่เรียกว่า "ละอองลอยระยะใกล้" ซึ่งฟุ้งกระจาย สามารถสูดหายใจทางจมูก และปากได้

วันนี้ (28 ธ.ค.2564) รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก นิธิพัฒน์ เจียรกุล ระบุว่า บทเรียนจากคลัสเตอร์ใหญ่ที่กาฬสินธุ์ ทำไมนักดนตรีติดกันหลายคน ทั้งที่มีข้อกำหนดไม่ให้นักดนตรีสัมผัสตัวกับผู้ชม

ทำไมจึงมีผู้ติดเชื้อจากสถานที่นั้น เป็นหลักร้อยในช่วงเวลาไม่กี่ชั่วโมงที่อยู่ในสถานที่นั้น หมายถึงว่าน่าจะมีคนเข้าไปใช้บริการเกินกำหนด รวมถึงเจ้าของสถานบริการและคนที่เข้าไปใช้บริการละเลยการควบคุมและการป้องกันตัวเอง

ที่สำคัญและน่ากลัวมากคือ โอมิครอนอาจจะแพร่กระจายได้ง่ายในลักษณะที่เรียกว่า ละอองลอยระยะใกล้ (short-range aerosol) ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 50 ไมโครเมตร (ประมาณเท่าเส้นผม)

แต่สามารถสูดหายใจเข้าไปทางจมูกและปากได้ โดยต่างจากละอองลอยฟุ้งกระจายปกติที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 5 ไมโครเมตร ซึ่งเป็นที่สนใจกันมากและมีการทำการศึกษาแพร่หลายในระยะหลังนี้

 

โดยอาจเกิดจากโอมิครอนมีความชอบ และตกค้างในระบบการหายใจส่วนบนได้นานตามหลักฐานในห้องทดลอง เชื้อจึงออกมาได้มากทุกครั้งที่เราพูดตามปกติ ส่งเสียงดัง ตะโกน ร้องเพลง ไอ และจาม รวมถึงประสิทธิภาพการป้องกันของหน้ากากที่ใช้และระบบการระบายอากาศในสถานที่แห่งนั้น

ในเมื่อไม่สามารถมั่นใจได้ว่าโอมิครอนจะลุกลาม จนผู้ป่วยหนักล้นโรงพยาบาลหรือเปล่า ต้องขอตัวไปเตรียมความพร้อมของเครื่องมือแพทย์ในโรงพยาบาลตัวเอง และโรงพยาบาลอื่น ที่พอจะช่วยสนับสนุนได้ โดยเฉพาะเครื่องไฮโฟลว์ และเครื่องช่วยหายใจ รวมถึงอุปกรณ์สนับสนุนทั้งข้อต่อกับไปป์ไลน์ แผ่นกรองไวรัส และเครื่องมือใช้ติดตามผลการรักษาผู้ป่วย

นพ.นิธิพัฒน์ ระบุอีกว่า ตัวเลขผู้ป่วยใหม่วันนี้ยังลดลงต่อเนื่อง ควบคู่กับจำนวนผู้ป่วยอาการรุนแรงและผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจ ส่วนอัตราการเสียชีวิตก็ยังอยู่ที่ประมาณ 1% นั่นหมายถึงว่าแม้โอไมครอนจะเข้ามาบ้านเราเกือบหนึ่งเดือนแล้ว ด้วยคุณสมบัติติดง่าย (แพร่เชื้อต่อได้มาก) แต่อาจไม่ติดทน (รุนแรง) และอาจไม่ติดนาน (ระยะเวลาการแพร่เชื้อสั้น)

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมาตรการควบคุมโรคของทั้งภาครัฐและภาคประชาชนยังเข้มแข็งอยู่ รวมถึงภูมิจากการฉีดวัคซีนกันเกือบถ้วนหน้าและการติดเชื้อตามธรรมชาติในวงกว้างจากระลอกก่อน ช่วงเวลาเทศกาลปีใหม่ที่เหลือจะพิสูจน์ฝีมือทุกฝ่ายว่าจะสามารถทำให้ยอดโอไมครอนในประเทศไปแตะหลักพันหรือไม่

ขณะนี้ ครบ 7 วันพอดีที่ยอดผู้ป่วยรายใหม่ในเมืองหลวงยังต่ำกว่า 500 คน แต่กรุงเทพ ชลบุรี นครศรีธรรมราช สมุทรปราการ เชียงใหม่ ยังอยู่ในท็อปไฟว์ โดยมีอุดรธานี และกาฬสินธุ์ตามมาติดๆ จะเห็นได้ว่ายกเว้นนครศรีธรรมราชแห่งเดียว ที่เหลืออีก 6 จังหวัด มีความสุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโอมิครอนสูง เพราะเป็นแหล่งท่องเที่ยวและรับผลโดยตรง จากคลัสเตอร์ใหญ่โอมิครอน หน่วยงานที่รับผิดชอบในการควบคุมโรคและประชาชนในพื้นที่ คงจะต้องทำงานหนักและร่วมมือกันชะลอการระบาด

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เช็กแผนที่เส้นทาง "โอมิครอน" ไทย 10 วันลาม 17 จังหวัด

สธ.แจ้งเตือนภัยด้านสาธารณสุข ระดับ 3 รับมือโอมิครอน

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง