"โอมิครอน" ขาขึ้น 2 สัปดาห์พบผู้ป่วยปอดอักเสบ เพิ่ม 2 เท่า

สังคม
24 ก.พ. 65
15:19
2,804
Logo Thai PBS
"โอมิครอน" ขาขึ้น 2 สัปดาห์พบผู้ป่วยปอดอักเสบ เพิ่ม 2 เท่า
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สธ.เผย "โอมิครอน" ยังอยู่ในช่วงขาขึ้น เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง หลัง 2 สัปดาห์พบผู้ป่วยปอดอักเสบ - ใส่ท่อช่วยหายใจ เพิ่ม 2 เท่า

วันนี้ (24 ก.พ.2565) นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า ยังเป็นกระบาดช่วงขาขึ้นของสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งมีการแพร่เชื้อเร็ว ผู้ป่วยเสียชีวิตหรืออาการหนักมีไม่มาก แต่มีผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการจำนวนมาก ในช่วง 2สัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่า มีผู้ป่วยปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า จาก 569 คน เพิ่มเป็น 905 คน ส่วนผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 113 คน เพิ่มเป็น 240 คน เป็นผลจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก

ขณะที่ผู้ป่วยเสียชีวิตในช่วง 2 สัปดาห์ ก็เพิ่มขึ้น 2 เท่าเช่นเดียวกัน การพบผู้ป่วยปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้นเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าระวังเพราะอาจจะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น มากจนอาจทำให้กลุ่มเสี่ยงที่ติดเชื้อแล้วมีอาการหนักได้ 

 

 

นพ.จักรรัฐ ยังกล่าวถึงสถานการณ์ทั่วโลกว่า มีการติดเชื้อสะสมแล้วกว่า 430,112,281 คน วันนี้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,839,365 คน เสียชีวิตสะสม 5,936,424 คน ในรอบ 1 สัปดาห์ มีผู้ติดเชื้อไปแล้ว 11,880,452 ล้านคน เสียชีวิตกว่า 64,000 คน ในหลายประเทศมียอดติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขึ้น ฝั่งเอเชียมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นมาก

ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนเกือบทั่วโลกทำให้การติดเชื้อแพร่เชื้อรวดเร็ว แต่ผู้เสียชีวิตผู้ป่วยหนักไม่มากเท่าเดลตา เนื่องจากการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น รวมทั้งมาตรการการป้องกันโรคของแต่ละประเทศจะแตกต่างกัน การติดเชื้อจึงมีลักษณะแตกต่างกัน จากนี้ต้องติดตามอาการผู้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิตใกล้ชิดมากขึ้น 

 

ด้าน นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงสถานการณ์การรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ว่า ในสถานการณ์การระบาดที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ทั้ง 13 เขตสุขภาพ ปัจจุบันมีอัตราการครองเตียงทั่วประเทศร้อยละ 50 จากเตียงทั้งหมด 180,000 เตียง เหลือเตียงอีกร้อยละ 40 ในโรงพยาบาลส่วนใหญ่เป็นเตียงผู้ป่วยไม่หนักในระดับสีเขียว นั้นหมายความว่า ผู้ป่วยที่มีอาการหนักยังมีเตียงรองรับได้อยู่

 

ทั้งนี้ หากประชาชนพบว่าตนเองติดเชื้อโควิด-19 ช่องทางหลักในการติดต่อคือสายด่วน สปสช. 1330 หรือเว็บไซต์ สปสช. เพื่อเข้ารับการรักษา และสามารถโทรคอลเซ็นเตอร์ของเขต หรือจังหวัดนั้นได้เช่นกัน 

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง