นักศึกษาอินเดีย พัฒนา AI แปลภาษามือแบบเรียลไทม์

Logo Thai PBS
นักศึกษาอินเดีย พัฒนา AI แปลภาษามือแบบเรียลไทม์
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักศึกษาวิศวะอินเดีย พัฒนาระบบ AI ช่วยแปลภาษามือแบบ ASL แบบเรียลไทม์ เบื้องต้นสามารถแปลภาษามือเป็นคำง่าย ๆ ได้แล้ว

Priyanjali Gupta นักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ จากรัฐทมิฬนาฑู ประเทศอินเดีย ได้พัฒนาระบบ AI ที่สามารถแปลภาษามือแบบอเมริกัน (ASL) ได้แบบทันที ซึ่งจะช่วยให้คนที่มีปัญหาทางการได้ยิน สามารถสื่อสารกับคนที่ไม่เข้าใจภาษามือได้อย่างรวดเร็ว แต่ในเบื้องต้นระบบจะแปลได้เพียงคำง่าย ๆ 6 คำ และยังต้องพัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพได้มากขึ้นต่อไป

แม้ว่าปัจจุบันจะมีเทคโนโลยีที่ทำให้การติดต่อสื่อสารเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น แต่ยังคงเป็นอุปสรรคสำหรับคนที่มีปัญหาการได้ยินจะสื่อสารกับคนปกติ โดยเฉพาะการสื่อสารแบบเห็นหน้าผ่านระบบวิดีโอคอล คู่สนทนาจะต้องเข้าใจภาษามือได้เป็นอย่างดี จึงจะเข้าใจว่าอีกฝ่ายหนึ่งต้องการพูดว่าอะไร

เครื่องมือในการแปลภาษามือแบบอเมริกัน (American Sign Language: ASL) ด้วยระบบ AI ของ Priyanjali Gupta นักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์จาก Vellore Institute of Technology (VIT) รัฐทมิฬนาฑู ประเทศอินเดีย เป็นอีกหนึ่งความพยายามในการช่วยเหลือและลดช่องว่างระหว่างคนที่มีปัญหาทางการได้ยินให้สามารถสื่อสารกับคนปกติได้ง่ายขึ้น โดยเธอได้แชร์ผลงานลงบนแพลตฟอร์หางาน ซึ่งได้รับความสนใจและคำชื่นชมเป็นจำนวนมาก

การทำงานของระบบแปลภาษามือด้วย AI เริ่มต้นจากการแปลภาษามือซึ่งเป็นการทำท่าทางต่าง ๆ จากอาสาสมัครให้เป็นภาษาอังกฤษ โดยได้ใช้เทคโนโลยีการจดจำภาพ (Image Recognition) แล้วนำผลที่ได้มาวิเคราะห์การเคลื่อนไหวส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะแขนและนิ้ว

ระบบสามารถแปลภาษามือได้ทันที แต่ในช่วงแรกของการพัฒนา จะยังแปลได้เพียงคำภาษาอังกฤษง่าย ๆ และยังไม่ได้เป็นประโยคที่ซับซ้อน เช่น

  • ใช่ (Yes)
  • ไม่ใช่ (No)
  • ได้โปรด (Please)
  • ขอบคุณ (Thank you)
  • ฉันรักคุณ (I love you)
  • สวัสดี (Hello)

โดยยังต้องใช้ชุดข้อมูลที่จำเป็นอีกมาก เพื่อให้ระบบแปลได้มากขึ้นกว่าเดิม

สำหรับชุดข้อมูลที่ใช้แปลในปัจจุบัน เป็นสิ่งที่ Priyanjali Gupta พัฒนาขึ้นมาเองจากเว็บแคมแบบเฟรมเดียว จึงยังไม่สามารถใช้งานกับวิดีโอได้ แต่ได้พัฒนาต่อด้วยการนำเครือข่ายประสาทเทียมแบบ LSTM (Long-Short Term Memory) มาใช้งานร่วมด้วย และมีแผนที่จะนำเทคโนโลยีอื่น ๆ มาช่วยในการพัฒนา เพื่อให้การแปลภาษามือมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ที่มาข้อมูลและภาพ: SEA Mashable, zeenews, zmescience
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง