เริ่มวันนี้ รักษาโควิดแบบผู้ป่วยนอก กลุ่มที่ไม่มีอาการ ไม่มีความเสี่ยง

สังคม
1 มี.ค. 65
07:16
3,757
Logo Thai PBS
เริ่มวันนี้ รักษาโควิดแบบผู้ป่วยนอก กลุ่มที่ไม่มีอาการ ไม่มีความเสี่ยง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เริ่มวันนี้ สธ.เพิ่มการดูแลแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้านแบบสมัครใจ กลุ่มที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย ไม่มีความเสี่ยง ซึ่งหายเองได้ โดยให้ยารักษาตามอาการ ส่วน HI/CI ยังคงมีเหมือนเดิม ยืนยันมีเตียงและยาเพียงพอรองรับกลุ่มอาการรุนแรง

เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2565 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทยขณะนี้เป็นสายพันธุ์โอมิครอนเกือบทั้งหมด ซึ่งในทวีปยุโรปและอเมริกาพบการระบาดมากในช่วง 1-2 เดือน จากนั้นจะเริ่มลดลง จึงคาดว่าไทยจะยังมีผู้ป่วยสูงขึ้นในช่วง 2-6 สัปดาห์นี้

สายพันธุ์โอมิครอนมักติดเชื้อบริเวณทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการทางจมูกและคอมากกว่า โดยผู้ติดเชื้อที่กำลังรักษากว่า 200,000 คน พบอาการปอดอักเสบเพียงร้อยละ 0.45 และใส่ท่อช่วยหายใจร้อยละ 0.13 ส่วนสายพันธุ์ย่อย BA.2 แพร่กระจายเร็วกว่า BA.1 เล็กน้อย แต่ความรุนแรงไม่ต่างกัน ผู้ที่เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป และผู้มีโรคเรื้อรัง 

รักษาโควิด แบบผู้ป่วยนอก กลุ่มไม่มีอาการ

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อโอมิครอนร้อยละ 90 ไม่มีอาการหรืออาการไม่รุนแรง จึงปรับรูปแบบการดูแลให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยหากมีอาการทางเดินหายใจหรือประวัติสัมผัสเสี่ยงสูง เมื่อตรวจ ATK ด้วยตนเอง หากผลเป็นลบให้ปฏิบัติตามมาตรการ DMHTT หากผลเป็นบวก สามารถโทร 1330

ทั้งนี้ สปสช.จะมีการเพิ่ม Robot Screening ช่วยคัดกรอง หรือไปรับบริการที่คลินิกทางเดินหายใจ (ARI Clinic) หรือคลินิกสงสัยผู้ติดเชื้อ (PUI) ที่มีในทุกโรงพยาบาล หรือโทรติดต่อโรงพยาบาลที่มีสิทธิการรักษาเพื่อประเมิน หากมีภาวะเสี่ยง คือ เป็นกลุ่ม 608 มีโรคประจำตัว แต่อาการไม่มาก จะให้เข้าระบบ HI/CI, Hotel Isolation และฮอสปิเทล แต่หากมีภาวะเสี่ยงและอาการรุนแรงจะส่งรับการรักษาในโรงพยาบาล

 

ส่วนกลุ่มที่ไม่มีภาวะเสี่ยง สามารถรักษาแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวเองที่บ้าน ซึ่งคล้ายกับการรักษาระบบ HI คือ มีการแยกกักตัวที่บ้าน จ่ายยาตามอาการ โทรติดตามอาการ โดย HI จะโทรติดตามทุกวัน และมีอุปกรณ์ตรวจประเมินให้ เช่น ปรอทวัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด รวมถึงอาหาร แต่กรณีผู้ป่วยนอกเนื่องจากไม่มีความเสี่ยง จึงไม่มีอุปกรณ์ตรวจประเมินและอาหารให้ และจะโทรติดตามอาการครั้งเดียวเมื่อครบ 48 ชั่วโมง แต่ทุกรูปแบบจะมีช่องทางให้ประชาชนสามารถติดต่อกลับได้ และมีระบบส่งต่อเมื่ออาการแย่ลง

 

แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด 

นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ประธานคณะทำงานด้านการรักษาพยาบาลและป้องกันโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล กรมการแพทย์ กล่าวว่า แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย การดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 มีการปรับปรุงมาเป็นระยะตามข้อมูลทางวิชาการที่เปลี่ยนแปลงไป ปัจจุบันเป็นฉบับที่ 20 แบ่งการรักษาผู้ติดเชื้อเข้าข่ายที่มีผลตรวจ ATK เป็นบวก 4 กลุ่ม คือ

1.ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยมาก ๆ กลุ่มนี้จะหายเองได้ ให้รักษาแบบผู้ป่วยนอกโดยแยกกักตัวที่บ้าน ไม่จำเป็นต้องให้ยาฟาวิพิราเวียร์ เพื่อลดความเสี่ยงรับผลข้างเคียงจากยา เช่น คลื่นไส้ อาเจียน และกระทบต่อตัวอ่อนในครรภ์

2.ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง/ไม่มีโรคร่วมสำคัญ แพทย์จะพิจารณาว่าจะให้ยาฟาวิพิราเวียร์หรือไม่ หากกำลังใช้ฟ้าทะลายโจรจะต้องหยุดฟ้าทะลายโจรก่อน

3.ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง หรือผู้ป่วยที่มีปอดอักเสบ

4.ผู้ป่วยที่มีโรครุนแรงมาก สองกลุ่มนี้แพทย์จะพิจารณารับการรักษาในโรงพยาบาล และพิจารณาให้ยารักษาที่มียาชนิดตามความเหมาะสม

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กทม. ติดเชื้อรายใหม่ 2,779 คน พบ 18 คลัสเตอร์โรงเรียน

สธ.คาดโควิดยังสูงอีก 2-6 สัปดาห์ ก่อนทรงตัวและเริ่มลดลง

เริ่มวันแรก 1 มี.ค. สปสช.แจก ATK เฟส 2 ผ่านแอปฯ เป๋าตัง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง