สธ.คาดโควิดยังสูงอีก 2-6 สัปดาห์ ก่อนทรงตัวและเริ่มลดลง

สังคม
1 มี.ค. 65
06:29
266
Logo Thai PBS
สธ.คาดโควิดยังสูงอีก 2-6 สัปดาห์ ก่อนทรงตัวและเริ่มลดลง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สธ.คาดการณ์ยอดติดเชื้อโควิด ยังสูงต่อเนื่องอีก 2-6 สัปดาห์ ก่อนทรงตัวและเริ่มลดลง ผู้ป่วยปอดอักเสบยังน้อยกว่าช่วงเดลตาระบาด แนะประชาชนเข้ารับวัคซีน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ

เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2565) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกภูมิภาค ทำให้ผู้ป่วยปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิต มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย แต่ยังเป็นสัดส่วนที่ลดลง โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ มีโรคเรื้อรัง และยังไม่ได้ฉีดวัคซีน จึงขอให้ประชาชนยังต้องเข้มมาตรการป้องกันตนเองสูงสุดตลอดเวลาและฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าจะมีผู้ป่วยปอดอักเสบประมาณกว่า 1,000 คน ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจประมาณ 400-500 คน ต่ำกว่าช่วงสายพันธุ์เดลตาที่ผู้ป่วยปอดอักเสบประมาณ 6,000-7,000 คน และใส่ท่อช่วยหายใจ 1,300 คน ระบบสาธารณสุขจึงสามารถรองรับได้

 

ขณะนี้เตียงทั่วประเทศใช้ไปประมาณร้อยละ 59 ส่วนใหญ่เป็นเตียงระดับ 1 สำหรับผู้มีอาการน้อย ส่วนเตียงระดับ 2 และ 3 ใช้ประมาณร้อยละ 20 เท่านั้น

 

ขณะที่ยาฟาวิพิราเวียร์ สำรองไว้ทั่วประเทศ 16.9 ล้านเม็ด ช่วงเดือน มี.ค. - เม.ย. องค์การเภสัชกรรม สามารถผลิตได้อีก 63.8 ล้านเม็ด รวมถึงสั่งซื้อเพิ่มเติมด้วย รวมทั้งสิ้น 87.6 ล้านเม็ด วันนี้ส่งไปพื้นที่แล้ว 5 ล้านเม็ด และวันที่ 1 มี.ค. จะส่งเพิ่มอีก 15 ล้านเม็ด พร้อมทั้งเพิ่มบริการตรวจรักษาผู้ป่วยโควิด-19 แบบผู้ป่วยนอกสำหรับผู้สมัครใจ เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์และประชาชนเข้าถึงบริการมากขึ้น

 

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยขณะนี้เป็นสายพันธุ์โอมิครอนเกือบทั้งหมด ซึ่งในทวีปยุโรปและอเมริกาพบการระบาดมากในช่วง 1-2 เดือน จากนั้นจะเริ่มลดลง ดังนั้น จึงคาดว่าประเทศไทยจะยังมีผู้ป่วยสูงขึ้นในช่วง 2-6 สัปดาห์นี้

สายพันธุ์โอมิครอนมักติดเชื้อบริเวณทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการทางจมูกและคอมากกว่า โดยผู้ติดเชื้อที่กำลังรักษากว่า 200,000 คน พบอาการปอดอักเสบเพียงร้อยละ 0.45 และใส่ท่อช่วยหายใจร้อยละ 0.13 ส่วนสายพันธุ์ย่อย BA.2 แพร่กระจายเร็วกว่า BA.1 เล็กน้อย แต่ความรุนแรงไม่ต่างกัน ผู้ที่เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป และผู้มีโรคเรื้อรัง เช่น ไตวายระยะสุดท้าย มะเร็งระยะสุดท้าย เป็นต้น

มาตรการป้องกัน เน้น 3 เรื่อง

นพ.โอภาส กล่าวว่า มาตรการป้องกันในขณะนี้จึงเน้น 3 เรื่อง คือ

1.วัคซีน ซึ่งแม้วัคซีนทุกชนิดจะป้องกันการติดเชื้อโอมิครอนได้น้อยลง แต่ช่วยลดการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ ซึ่งผู้ที่เสียชีวิตส่วนใหญ่พบว่าไม่ได้ฉีดเข็มกระตุ้น ดังนั้น ต้องเร่งการฉีดเข็มกระตุ้น รวมถึงเร่งฉีดในเด็กที่พบการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นกว่าร้อยละ 10 ด้วย

2.มาตรการส่วนบุคคล โดยเฉพาะมาตรการ VUCA

3.การปฏิบัติตนเมื่อเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง โดยใช้หลัก 7+3 คือ กักตัวที่บ้าน 7 วัน หลีกเลี่ยงพบคนให้มากที่สุด ตรวจ ATK วันที่ 5-6 หากเป็นลบ ออกจากบ้านได้ แต่หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดผู้อื่น การไปที่สาธารณะ และการใช้ขนส่งสาธารณะอีก 3 วัน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

เริ่มวันแรก 1 มี.ค. สปสช.แจก ATK เฟส 2 ผ่านแอปฯ เป๋าตัง

กทม. ติดเชื้อรายใหม่ 2,779 คน พบ 18 คลัสเตอร์โรงเรียน

เตรียมทดลองในคน "สเปรย์แอนติบอดีพ่นจมูก" ยับยั้งโควิด

เริ่มวันนี้ รักษาโควิดแบบผู้ป่วยนอก กลุ่มที่ไม่มีอาการ ไม่มีความเสี่ยง

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง