จับตา "พายุอ่าวเบงกอล" 7-9 พ.ค.นี้ ภาคใต้เสี่ยงฝนตก-น้ำท่วม

ภัยพิบัติ
7 พ.ค. 65
07:52
3,800
Logo Thai PBS
จับตา "พายุอ่าวเบงกอล" 7-9 พ.ค.นี้ ภาคใต้เสี่ยงฝนตก-น้ำท่วม
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศฉบับที่ 2 "หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณอ่าวเบงกอลตอนล่าง"มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไซโคลน จะเคลื่อนตัวเข้าอ่าวเบงกอลบน 7-9 พ.ค.นี้ ชี้ภาคใต้อาจมีฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน กรมทรัพายกรธรณี เตือนระวังพื้นที่เสี่ยงดินถล่ม

วันนี้ (7 พ.ค.2565) น.ส.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศอุตุนิยมวิทยา ฉบับที่ 2 "หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณอ่าวเบงกอลตอนล่าง" เนื่องจากหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณอ่าวเบงกอลตอนล่าง มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไซโคลน และจะเคลื่อนตัวทางทิศเหนือเข้าปกคลุมอ่าวเบงกอลตอนบนในช่วงวันที่ 7-9 พ.ค.นี้  ส่งผลให้ลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทย อ่าวไทย และทะเลอันดามัน มีกำลังแรงขึ้น

ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทย มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้

สำหรับคลื่นลมในทะเลอันดามันมีกำลังแรงขึ้น โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ในขณะที่อ่าวไทยทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองจะมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง

ภาพ:กรมทรัพยากรธรณี

ภาพ:กรมทรัพยากรธรณี

ภาพ:กรมทรัพยากรธรณี

เตือน 6 จังหวัดเสี่ยงดินถล่ม

ขณะที่กรมทรัพยากรธรณี  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ออกหนังสือให้อาสาสมัครเครือข่ายเฝ้าระวัง แจ้งเตือนธรณีพิบัติภัยของกรมทรัพยากรธรณี และประชาชนทั่วไปในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง และพังงา ให้เฝ้าระวังภัยดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากตั้งแต่วันที่ 6 - 8 พ.ค.นี้ โดยเฉพาะในบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่ม

  •  อ.ท่าแซะ ละแม สวี พะต๊ะ ปะทิว หลังสวน จ.ชุมพร
  • ท่าชนะ ไชยา ท่าฉาง วิภาวดี พนม คีรีรัฐนิคม กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี
  • อ.นบพิตำ พิปูน ท่าศาลา ขนอม สิชล พรหมคีรี ลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช

ทั้งนี้ เนื่องจากมีฝนตกหนักต่อเนื่องหลายวันและวัดปริมาณน้ำฝนได้มากกว่า 100 มิลลิเมตร อาจส่งผลให้เกิดดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากได้ โดยขอให้อาสาสมัครเครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งเตือนธรณีพิบัติภัยของกรมทรัพยากรธรณี เตรียมความพร้อมเฝ้าระวังภัยและวัดปริมาณน้ำฝนอย่างต่อเนื่อง หากเกิดเหตุให้แจ้งเตือนสถานการณ์ดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากให้ประชาชนในหมู่บ้านได้รับทราบ และแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมปฏิบัติตามแผนเฝ้าระวังที่ได้มีการอบรมไว้แล้ว

 

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง