พบเขตสุขภาพ 12 ภาคใต้ติดมาลาเรียชนิด "โนวไซ" 46 คน

สังคม
10 พ.ค. 65
17:03
979
Logo Thai PBS
พบเขตสุขภาพ 12 ภาคใต้ติดมาลาเรียชนิด "โนวไซ"  46 คน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สาธารณสุขสงขลา เตือนประชาชนให้ระวังโรคไข้มาลาเรียชนิด "โนวไซ" แพร่จากลิงสู่คน โดยมียุงก้นปล่องเป็นพาหะ จากข้อมูลพบว่าในพื้นที่เขต 12 มีรายงานผู้ติดเชื้อ 46 คน โดยจ.ยะลา 22 คน สงขลา 19 คน สตูล 5 คน

วันนี้ (10 พ.ค.2565) นพ.สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ไข้มาลาเรียชนิด "โนวไซ" หรือ Plasmodium knowlesi เป็นโรคที่สามารถแพร่เชื้อจากลิงสู่คนได้ ซึ่งมียุงก้นปล่องเป็นพาหะ ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนว่ายุงสามารถนำเชื้อจากคนสู่คนได้อย่างไร

สำหรับประชาชนที่มีประวัติสัมผัสลิงในป่า และมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ หนาวสั่นและเหงื่อออกมาก ให้รีบพบแพทย์ทันที เพื่อเจาะเลือดตรวจหาเชื้อมาลาเรีย และแจ้งประวัติเข้าป่า เพื่อให้การรักษารวดเร็ว เพราะหากช้า อาจจะมีอาการแทรกซ้อนร้ายแรงและเสียชีวิตได้

ขณะที่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง และนักท่องเที่ยว ควรป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด โดยการสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด และทายากันยุง

ทั้งนี้จากข้อมูลในพื้นที่เขต 12 มีรายงานผู้ป่วยเป็นไข้มาลาเรียชนิด "โนวไซ" แล้วตั้งแต่เดือนต.ค.2564 จนเถึงเดือน พ.ค.2565 จำนวน 46 คน พบมากสุดที่ จ.ยะลา 22 คน สงขลา 19 คน และสตูล 5 คน

 

ส่วนการป้องกัน กองโรคติดต่อนำโดยแมลง และสำนักงานสาธารณสุข ได้ดำเนินมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคไข้มาลาเรียอย่างเข้มแข็ง และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด 

ขณะที่กรมควบคุมโรค รายงานว่าครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2565 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2564 – 31 มี.ค.2565 พบผู้ป่วยไข้มาลาเรียจากเชื้อชนิดนี้แล้ว 70 คน จังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ระนอง สงขลา และตราด

โดยลิงที่เป็นสัตว์รังโรคในไทย ได้แก่ ลิงกัง ลิงวอก ลิงเสน ลิงแสม และลิงอ้ายเงี๊ยะ ทั้งนี้ในไทยพบรายงานผู้ป่วยในไทยครั้งแรกเมื่อปี 2547 และพบเฉลี่ยปีละประมาณ 10 คน  

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เตือนระวัง! ไข้มาลาเรียชนิด “โนวไซ” ติดต่อจากลิงสู่คนได้

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง