กางตัวเลขงบปี' 66 สู้ยากจนแบบพุ่งเป้า-ของบกลาง 5.9 หมื่นล้าน

การเมือง
31 พ.ค. 65
14:42
1,269
Logo Thai PBS
กางตัวเลขงบปี' 66 สู้ยากจนแบบพุ่งเป้า-ของบกลาง 5.9 หมื่นล้าน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นายกรัฐมนตรี กางตัวเลขพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2566 วงเงิน 3.18 ล้านล้านบาทฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด-แก้ความยากจนแบบพุ่งเป้า ชี้สิ้นเดือน มี.ค.หนี้สาธารณะคงค้าง 60.6% กันงบกลาง 590,470 ล้านบาทเผื่อฉุกเฉิน

วันนี้ (31 พ.ค.2565) เมื่อเวลา 09.50 น.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำเสนอหลักการของร่างพ.ร.บ.งบ ปี 2566 ว่าการดำเนินนโยบายการคลังในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 เป็นการดำเนินนโยบายงบประมาณแบบขาดดุล โดยกำหนดรายได้สุทธิ จำนวน 2.49 ล้านล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 6.95 แสนล้านบาท รวมเป็นรายรับจำนวน 3.18 ล้านล้านบาท เท่ากับวงเงินงบประมาณรายจ่าย

เหตุผลการขอตั้งงบฯปี 2566 ไม่เกิน 3.18 ล้านล้านบาทเพื่อขับเคลื่อนประเทศให้บรรลุเป้าหมายที่เป็นรูปธรรม สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ

สำหรับฐานะการคลัง หนี้สาธารณะคงค้างวันที่ 31 มี.ค.2565 มีจำนวน 9.95 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 60.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ อยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะ ตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 70

โดยหนี้สาธารณะที่เป็นข้อผูกพันของรัฐบาล เกิดจากการกู้ยืมเงินโดยตรงและการค้ำประกันเงินกู้โดยรัฐบาลมีจำนวน 9.47 ล้านล้านบาท ฐานะเงินคงคลัง ณ วันที่ 30 เม.ย.นี้ จำนวน 398,000 ล้านบาท

ฐานะการเงินด้านต่างประเทศของไทยอยู่ในเกณฑ์ดี มูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศ 233,926.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 3.15 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ถือว่าอยู่นระดับที่แข็งแกร่ง

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวรัฐบาลได้ดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบของพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 และสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน จำแนกเป็นรายจ่ายประจำ จำนวน 2.39 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 75.26 รายจ่ายลงทุน จำนวน 6.95 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 21.82 และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 100,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.14

กาง 7 ยุทธศาสตร์งบปี 66 แก้ยากจน

โดยแบ่งจำแนกตามยุทธศาสตร์ได้ 6 ยุทธศาสตร์ 1 รายการ ดังนี้ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ด้านความมั่นคง รัฐบาลจัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 296,003 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 9.3 ของวงเงินงบประมาณ ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน รัฐบาลจัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 396,125 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12.4 ของวงเงินงบประมาณ ยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 549,514 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17.2 ของวงเงิน

ยุทธศาสตร์ที่ 5 การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 759,8611 ล้านบาท ยุทธศาสตร์ที่ 6 การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 122,964 ล้านบาท และยุทธศาสตร์ที่ 7 การปรับสมดุลและพัฒนาการบริหารจัดการภาครัฐ 658,012 ล้านบาท

ส่วนรายจ่ายงบกลาง เพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 590,470 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 5% เพื่อสำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกัน หรือแก้ไขสถานการณ์อันกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ การเยียวยา หรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณร้ายแรง ภารกิจที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐ และการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 

งบปี 66 มีเป้าหมายฟื้นฟูหลังโควิด-19 ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม มุ่งให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี กระจายประโยชน์ถึงประชาชนทุกกลุ่ม ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้า ลดความเหลื่อมล้ำ 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

วันแรก! ถกงบฯ รายจ่ายปี'66 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง