วันแรก! ถกงบฯ รายจ่ายปี'66 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท

การเมือง
31 พ.ค. 65
08:53
360
Logo Thai PBS
วันแรก! ถกงบฯ รายจ่ายปี'66 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
วันแรก! จับตาอภิปรายถกงบฯรายจ่ายปี 2566 "นายกรัฐมนตรี" ระบุไม่กังวล พร้อมเตรียมร่ายยาวความจำเป็นใช้วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท ฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8.5 หมื่นล้านบาท

วันนี้ (31 พ.ค.2565) วันแรกของการประชุมสภา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะนำเสนอหลักการ ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 วงเงิน 3,185,000 ล้านบาท ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะเปิดให้อภิปรายกัน 3 วัน ระหว่างวันที่ 31 พ.ค.–2 มิ.ย.นี้

โดยนายกรัฐมนตรี จะชี้แจงถึงความจำเป็นและแนวทางการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย โดยเฉพาะการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในช่วงหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 วงเงินงบประมาณรวม 3.18 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 85,000 ล้านบาท แบ่งเป็นรายจ่ายประจำร้อยละ 78.2 และรายจ่ายลงทุนร้อยละ 21.8

ทั้งนี้เมื่อเวลา 09.25 น.พล.ประยุทธ์  เดินทางเข้าร่วมประชุมสภา เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบฯปี 2566 ยืนยันว่าไม่กังวลต่อการพิจาณา และพยักหน้ารับหลังถูกถามว่าร่างกฎหมายงบฯ จะผ่านไปด้วยความเรียบร้อย และส่ายหัว หลังถูกตั้งคำถาม ถึงข้อกังวลต่างๆ และไม่ได้กำชับอะไร ส.ส.เป็นพิเศษ

เน้นแก้ความยากจน 2.7 แสนล้าน 265 โครงการ

สำหรับการดำเนินการของปี 2566 รัฐบาลได้กำหนดแผนงานโครงการที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้า งบประมาณรวม 270,000 ล้านบาท เกี่ยวข้อง 14 กระทรวง 265 โครงการ 

ด้านรายได้ งบประมาณ 173,000 ล้านบาท เช่น การช่วยเหลือประชาชนเพื่อบรรเทาความยากลำบาก ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 13.4 ล้านคน คนพิการไม่น้อยกว่า 2.09 ล้านคน เด็กเล็ก 2.58 ล้านคน ผู้ป่วยเอดส์ 8.8 แสนคน ลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกร เพิ่มพื้นที่ชลประทานแก่เกษตรกร

ด้านการศึกษา งบประมาณ 18,100 ล้านบาท เช่น การสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ 2.62 ล้านคน ดูแลเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 660,000 คน

ด้านสุขภาพ งบประมาณ 70,100 ล้านบาท เช่น การดูแลค่ารักษาผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 13.45 ล้านคน ยกระดับคุณภาพมาตรฐานสถานพยาบาล 494 แห่ง

ด้านความเป็นอยู่ งบประมาณ 7,016 ล้านบาท เช่น จัดที่ดินทำกินแก่ประชาชนที่ยากจน ขยายการเข้าถึงน้ำประปาเพิ่ม 2 แสนครัวเรือน ส่งเสริมโอกาสให้คนจนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง

ด้านการเข้าถึงบริการภาครัฐ 2,160 ล้านบาท เช่น คุ้มครองผู้ประสบภัยทางสังคม แก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติและการค้ามนุษย์ สนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชนผ่านกองทุนสวัสดิการชุมชน

ฝ่ายค้านมติไม่โหวตผ่านพ.ร.บ.งบฯ 

ขณะที่แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล เช่น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และนายอนุทิน ชาญวีรกูล ต่างมั่นใจว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ จะได้รับเสียงข้างมากในสภาฯ โหวตให้ผ่าน พร้อมย้ำถึงเจตนาของรัฐบาลในการจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศ ขณะเดียวกันยืนยันว่าไม่กังวลต่อท่าทีของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่มีมติจะไม่รับร่างกฎหมายฉบับนี้

ด้านนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ชี้ว่า 6 พรรคร่วมฝ่ายค้าน เห็นตรงกันที่จะไม่โหวตผ่านร่างกฎหมายงบประมาณฯ เพราะการจัดสรรไม่ตอบโจทย์กับการแก้ปัญหาประเทศ ทั้งวิกฤตเศรษฐกิจ  ความขัดแย้งจากต่างประเทศ และโควิด-19 พร้อมอ้างอิงการจัดสรรงบประมาณมีความสุ่มเสี่ยง-ทางตัน ต่อการทำผิดกฎหมายวินัยการเงินการคลัง และกฎหมายหนี้สาธารณะ

ส่วนร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า แกนนำพรรคเศรษฐกิจไทย ย้ำถึงจุดยืนเดิม คือจะโหวตรับร่างกฎหมายฉบับนี้ ก็ต่อเมื่อเห็นว่าจัดสรรงบประมาณเป็นประโยชน์กับบ้านเมือง-ประชาชน แต่ยอมรับเท่าที่ตรวจสอบรายละเอียดของการจัดสรรงบประมาณยังไม่ตอบโจทย์ และที่เห็นได้ชัดคือมีหลายกระทรวงจัดสรรงบประมาณไม่เกิดประโยชน์ พร้อมยืนยันจะให้สมาชิกพรรคเป็นผู้ร่วมอภิปรายในครั้งนี้ 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"ชลน่าน" เปรยยังไม่ได้ดึง 18 ส.ส.เศรษฐกิจไทยร่วมงานฝ่ายค้าน

31 พ.ค.-2 มิ.ย. เกาะติดอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบฯ 3.18 ล้านล้าน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง