ผู้ประกอบการ "บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป" ส่งสัญญาณขอขึ้นราคา

เศรษฐกิจ
10 มิ.ย. 65
12:28
287
Logo Thai PBS
ผู้ประกอบการ "บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป" ส่งสัญญาณขอขึ้นราคา
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อดังขอขึ้นราคา หลังแบกต้นทุนไม่ไหว จากผลพวงสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ ส่งผลกระทบราคาวัตถุดิบ-น้ำมันพุ่ง

เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2565 นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานบริหาร บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลพวงจากสถานการณ์สงครามรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ ส่งผลให้ต้นทุนราคาวัตถุดิบ ไม่ว่าจะเป็นแป้งสาลี น้ำมันปาล์ม และราคาพลังงานเพิ่มสูงขึ้น ขณะนี้ต้นทุนการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสูงสุดในรอบ 26 ปี ทำให้บริษัทอยู่ระหว่างการขอปรับราคาสินค้าหลายรายการ เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ผงซักฟอก

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นสินค้าควบคุมที่ต้องขออนุญาตขึ้นราคาจากกรมการค้าภายใน ก่อนหน้านี้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปใช้วิธีขึ้นราคาขายส่ง แต่ไม่ขึ้นราคาขายปลีก เจ้าสุดท้ายที่ขอขึ้นราคาขายส่งไป คือ ยำยำ

ขณะที่การขยับตัวของเครือสหพัฒน์ครั้งนี้จะเป็นการขอขึ้นราคาขายปลีกจากซองละ 6 บาท อาจขึ้นเป็น 7 บาท หรือจะเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกระทรวงพาณิชย์ แต่หากไม่ขึ้น ผู้ผลิตอาจต้องลดกำลังการผลิต และอาจส่งผลให้สินค้าขาดแคลนได้

ย้อนไปตั้งแต่ต้นเดือน มิ.ย. ประชาชนควักกระเป๋าเพิ่มไปหลายรายการ ตั้งแต่ราคาน้ำมันดีเซลที่ขยับจากลิตรละ 32 บาท เป็นลิตรละ 33 บาท ต้นทุนขนส่งขึ้นทันที 10-15% เป็นต้นทุนแฝงที่ผู้บริโภคต้องจ่ายผ่านค่าสินค้า นอกจากนี้ยังมีแก๊สหุงต้มที่ขึ้นราคาตามขั้นบันได นับตั้งแต่เดือน เม.ย. ขณะนี้แก๊สถัง 15 กิโลกรัม ปรับขึ้นมา 45 บาท ขายที่ 363 บาท ไม่รวมค่าขนส่ง

ค่าไฟ รอบเดือน พ.ค.-ส.ค. เพิ่มเป็นหน่วยละ 24.77 สตางต์ จ่ายที่หน่วยละ 4 บาท และยังส่งสัญญาณขึ้นค่า Ft งวดกันเดือน ก.ย.-ธ.ค.ต่ออีกด้วย

สินค้าอุปโภคบริโภคอย่าง เป็ปซี่ ที่ออกมาบอกว่าจะปรับขึ้นราคา 1-2 บาท ทุกขนาดบรรจุภัณฑ์ เพราะต้นทุนบรรจุภัณฑ์อย่างเม็ดพลาสติก โลหะ ค่าขนส่งขึ้น แต่กรมการค้าภายในระบุว่ายังไม่ได้ขึ้นราคาขาย นอกจากนี้มีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง สบู่ ผงซักฟอง ไปจนถึงอาหารสัตว์เลี้ยง ที่เริ่มปรับขึ้นราคาเช่นกัน

ต้นทุนสำคัญของสินค้าอุปโภค บริโภค คือน้ำมันปาล์มที่ปรับสูงขึ้น จากกิโลกรัมละ 2 บาท เป็น 11-12 บาท ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา น้ำมันปาล์มขวดที่ใช้ทำอาหาร ขยับขึ้น จาก 50 กว่าบาท เป็นเกือบๆ 70 บาท

ขณะที่ปุ๋ยซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร ขึ้นราคาต่อเนื่องและยังไม่มีแนวโน้มจะลดลง โดยในปี 2564 จากราคา 500-700 บาท ขยับขึ้นเท่าตัวตั้งแต่ 1,300-1,900 บาท ซึ่งอาจส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตร เกิดปัญหาราคาแพง และอาจขาดแคลนได้

อ่านข่าวอื่นๆ

รมว.พลังงาน เผยรัฐเร่งหาแพ็กเกจช่วยค่าครองชีพ-สกัดเงินเฟ้อ

นักวิชาการ TDRI ชี้เงินเฟ้องานหิน แนะรัฐอุ้มกลุ่มหาเช้ากินค่ำ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง