“เสพกัญชา” ต้องระวัง! หมอเตือนอาจออกฤทธิ์เฉียบพลัน หลอน-ทรงตัวไม่อยู่

สังคม
16 มิ.ย. 65
07:31
17,130
Logo Thai PBS
“เสพกัญชา” ต้องระวัง! หมอเตือนอาจออกฤทธิ์เฉียบพลัน หลอน-ทรงตัวไม่อยู่
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เสพกัญชาต้องระวัง อาจมีผลเฉียบพลันหลอน ทรงตัวไม่อยู่ ระยะยาวมีผลต่อความจำ-เสี่ยงเส้นเลือดสมองตีบ ควันจากกัญชาส่งต่อผู้อื่นอันตรายไม่ต่างจากบุหรี่มือสอง

นพ.สหภูมิ ศรีสุมะ ศูนย์พิษวิทยา และภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ มักจะใช้ “ช่อดอกกัญชา” ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้เกิดการเสพติด ความแตกต่างขึ้นอยู่กับวิธีการใช้ หากเป็นการสูบมักมีฤทธิ์​โดยเฉลี่ย​ประมาณ​ 4 ชั่วโมง และ​การกินออกฤทธิ์​นาน​ประมาณ​ 12 ชั่วโมง ​ระยะเวลาการออกฤทธิ์​อาจแตกต่างไปในแต่ละคน ​รวมถึงยาและโรคประจำตัว​

ข้อมูลของผู้ที่ไม่เคยใช้กัญชามาก่อน หากสูบกัญชา 1 ครั้งจะตรวจพบสาร THC ในปัสสาวะได้ภายใน 3 วัน หากสูบแต่ไม่สม่ำเสมอ จะพบได้นาน 7 วัน เพราะสารจะเข้าไปในชั้นไขมันและขับออกมาช้าๆ ส่วนผู้ที่สูบอย่างหนักและติดต่อกันเป็นเวลานาน จะมีสาร THC เข้มข้นอยู่ในเนื้อเยื่อ แม้ผ่านไป 30 วันก็ยังตรวจเจอในปัสสาวะ

ผลเฉียบพลันจากการเสพกัญชา มีทั้งหลอนประสาท เมา ทรงตัวไม่อยู่ ควบคุมกล้ามเนื้อไม่ได้ และอาจมีการเปลี่ยนแปลงของสัญญาณชีพ เช่น ชีพจรเต้นเร็ว ความดันโลหิตแกว่งสูงขึ้นและลดลงเปลี่ยนแปลงไปมา อาการเหล่านี้จะอยู่นานหรือไม่ขึ้นอยู่กับบุคคล เพราะร่างกายของแต่ละคนมีการขับสารและมีความไวต่อสารเหล่านี้ไม่เท่ากัน

 

ส่วนผลระยะยาวของการเสพกัญชา พบว่า ส่งผลต่อระบบความคิดความจำผิดปกติ เส้นเลือดสมองตีบ เส้นเลือดหัวใจตีบ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ถุงลมโป่งพอง ท้องนอกมดลูก มะเร็งปอดและมะเร็งอัณฑะ นอกจากนี้ผลระยะยาวยังสัมพันธ์กับการเกิดโรคทางจิต เพิ่มขึ้น 3.9 เท่าจากคนปกติ ขณะที่การฆ่าตัวตาย เพิ่มขึ้น 2.5 เท่าจากคนปกติ

ควันจากการสูบกัญชาที่มี THC สามารถทำให้คนรอบตัวได้รับสาร THC เข้าสู่ร่างกายได้ เป็นกัญชามือสอง เช่นเดียวกับบุหรี่มือสอง ทั้งในผู้ใหญ่และเด็ก โดยสามารถตรวจพบสารและในบางการศึกษาพบว่า ผู้ได้รับควันมือสองนี้มีอาการมึนเมาและอาการระคายเคืองจากควันร่วมด้วย

ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต ระบุถึงการได้รับสาร THC จากกัญชาเข้าสู่ร่างกาย สามารถเกิดผลต่อ “ระบบจิตประสาท” อาจขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและการตอบสนองของแต่ละบุคคล (ทั้งนี้ THC 2-5 mg เทียบเท่ากับกัญชา 6 ใบ)

  • อาการกดประสาท <1mg รู้สึกสบาย สงบสุขคนเดียวได้ / 2-5 mg ง่วง อยากนอน ไม่มีแรงจูงใจทำอะไร / 5mg ขึ้นไป หลับลึกไม่ค่อยรู้ตัว
  • อาการกระตุ้นประสาท <1mg กระชุ่มกระชวย สมาธิดี ไม่หิว ไม่เหนื่อย / 2-5 mg กระสับกระส่าย กลัว ตื่นตระหนก / 5mg ขึ้นไป หัวใจเต้นเร็วมาก
  • อาการหลอนประสาท <1mg เคลิ้ม ฝันกลางวัน / 2-5 mg วิตกกังวล กลัว ไม่ออกไปไหน / 5mg ขึ้นไป ยิ้ม พูดคนเดียว หูแว่ว ระแวง

รู้จัก “THC - CBD” สารในกัญชา

กัญชามีสาร THC และ CBD ที่ให้ประโยชน์ และให้โทษหากใช้เกินขนาด

นพ.สหภูมิ ให้ข้อมูลว่า ในกัญชามีสารหลายชนิด แต่มี 2 ชนิดที่ใช้ทางการแพทย์ คือ Tetrahydrocannabinol (THC) และ Cannabidiol (CBD) ซึ่งทั้ง 2 สารเป็นสารที่ละลายในไขมัน

Tetrahydrocannabinol (THC) ใช้ในขนาดที่เหมาะสมจะมีผลในการลดปวด ลดการเกร็งของกล้ามเนื้อ ลดอาการคลื่นไส้ แต่หากได้รับในขนาดสูงจะทำให้มีอาการเมาเคลิ้ม ใจสั่น หน้ามืด เห็นภาพหลอน รบกวนการรับรู้การตัดสินใจและความจำ นอกจากนี้การใช้สาร THC ขนาดสูงสม่ำเสมอ ทำให้เกิดภาวะดื้อต่อสาร ทำให้ต้องเพิ่มขนาดเพื่อให้ได้ผลเท่าเดิมและเกิดการติดยาได้

Cannabidiol (CBD) เป็นสารที่มีฤทธิ์ต้านอาการเมาเคลิ้มและอาการทางจิตของ THC มีการศึกษาใช้สาร CBD เพื่อควบคุมอาการชักและอาการปวด สาร CBD ยังไม่พบว่าทำให้เกิดการดื้อหรือติด ส่วนผลข้างเคียงพบว่าทำให้เกิดการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง

ความเข้มข้นของระดับสารในกัญชาแต่ละต้นแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์และเทคนิคการปลูก แต่โดยทั่วไปกัญชาที่ปลูกขึ้นได้ในอากาศร้อนจะมีสาร THC มาก ส่วนในต่างประเทศ หากต้องการปลูกเอาสาร CBD มาใช้เพื่อการวิจัยหรือทางการแพทย์ จะปลูกในโรงเรือนที่มีการควบคุมอุณหภูมิและความชื้น

ปลดล็อกแล้ว แต่ยังไม่มีกฎหมายรองรับ

นพ.สหภูมิ แสดงความเห็นต่อกรณีการปลดล็อกกัญชา ว่า ก่อนหน้านี้มีการขับเคลื่อนทางกฎหมายและใช้กัญชาทางการแพทย์มาแล้ว 2-3 ปี ในทางการแพทย์ทำสำเร็จมานานแล้วตั้งแต่ยังไม่ปลดล็อกและทำได้ดี ส่วนคลินิกกัญชาทางการแพทย์ก็เปิดมานาน ทุกวันนี้ยังคงทำงานเหมือนเดิม

เมื่อปลดล็อกกัญชา คนเข้าถึงได้โดยไม่มีคำแนะนำของแพทย์ กลายเป็นความรับผิดชอบของประชาชนที่ต้องดูแลตัวเอง ในช่วงที่กฎหมายด้านต่างๆ ยังออกมารองรับไม่ทัน

ต่างจากเดิมที่หากจะใช้ต้องปรึกษา และแพทย์จะจ่ายผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยหน่วยงานที่ได้รับมาตรฐานแล้ว พร้อมตรวจสอบข้อบ่งใช้และขั้นตอนการรักษา เพราะประโยชน์จาก THC และ CBD มีประสิทธิภาพ​น้อยกว่ายาแผนปัจจุบัน​ และเกิดผลข้างเคียงง่ายกว่า จึงไม่เป็นการรักษาหลักตามกรมการแพทย์ ซึ่งกรมการแพทย์ให้เป็นการรักษาเสริมเพิ่มเติมจากการแพทย์แผนปัจจุบันเท่านั้น

นอกจากนี้ มีความกังวลว่าประชาชนจะรับข้อมูลและเกิดความสับสน คิดว่ากัญชาที่ตัวเองใช้เป็นการดูแลสุขภาพนั้น นพ.สหภูมิ ย้ำว่า ไม่ใช่แบบนั้น จะเป็นการดูแลสุขภาพได้ก็ต่อเมื่อมีการใช้อย่างถูกต้อง ปรึกษาคลินิกกัญชาทางการแพทย์และสั่งใช้ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์จริงๆ เพราะการลองใช้เองมีความเสี่ยงมากกว่าประโยชน์

 

อ่านข่าวอื่นๆ

ส่องราคา "กัญชา" ช่อดอกเกรด A แพงสุด 45,000 บาท/กก.

ม.มหิดล ห่วงการใช้กัญชา เตือนไม่ผสมช่อดอกในอาหาร-เครื่องดื่ม

มีผลแล้ว "กลิ่น-ควัน" กัญชา กัญชงเป็นเหตุรำคาญ มีโทษตามกฎหมาย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง