รายงานพิเศษ : "ดร.เอกพันธ์" ชี้ "เลือกตั้ง" กลไกลดขัดแย้งการเมืองไทย

การเมือง
22 ก.ค. 65
17:37
335
Logo Thai PBS
รายงานพิเศษ : "ดร.เอกพันธ์" ชี้ "เลือกตั้ง" กลไกลดขัดแย้งการเมืองไทย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การเลือกตั้งปี 66 กลไกคลี่คลายปมความขัดแย้งการเมืองไทยแบบสันติภาพ
การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมจริง ๆ มันเป็นเครื่องมือในการคลี่คลายความขัดแย้งได้ในระดับหนึ่ง เป็นเครื่องมือที่ดีด้วย หรือแม้กระทั่งการทำประชามติก็เป็นเครื่องมือที่คลี่คลายความขัดแย้งได้

เพราะฉะนั้นถ้าเราทำให้การเลือกตั้งทั่วไปในครั้งหน้า มีความบริสุทธิ์ยุติธรรม เป็นที่ยอมรับ มีกติกาเป็นที่ยอมรับ และถ้าสามารถทำประชามติเรื่องการแก้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควบคู่กันไปด้วย ซึ่งตอนนี้ก็อาจจะติดเงื่อนไขทางกฎหมายอยู่ ถ้าทำด้วยกันได้ มันก็จะคลี่คลายปมที่ผูกกันมามากมาย โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปตั้งโต๊ะเจรจาหรือพูดคุยกันกับตัวแทนของแต่ละฝ่าย

เราต้องปล่อยให้กลไกประชาธิปไตย มันคลี่คลายปมประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองด้วยตัวมันเอง ผมคิดว่านี่อาจจะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราต้องลองหันมาดูกระบวนการเหล่านี้กัน

 

ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์พิเศษ ดร.เอกพันธุ์ ปิณฑวนิช นักวิชาการด้านสันติวิธี และนักวิจัยจากสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าการเลือกตั้งปี 2566 สามารถเป็นกลไกช่วยเปลี่ยนผ่านสังคมไทยให้ก้าวผ่านความขัดแย้งทางการเมืองได้อย่างไร

นับถอยหลังสู่การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2566 ซึ่งเหลือเวลาไม่ถึงหนึ่งปี ไทยพีบีเอสออนไลน์สัมภาษณ์พิเศษ ดร.เอกพันธุ์ ปิณฑวนิช นักวิชาการด้านสันติวิธี และนักวิจัยจากสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในประเด็นเกี่ยวกับ “การเลือกตั้งครั้งต่อไป จะเป็นโอกาสที่ดีอย่างไรต่อการคลี่คลายปมความขัดแย้งทางการเมือง”

ถาม : นับตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2562 ไทยได้รัฐบาล รัฐสภา และการเมืองแบบไหน

ดร.เอกพันธ์ : ผมชอบการเลือกตั้ง และคิดว่าการเลือกตั้งเป็นกระบวนการการเปลี่ยนผ่านอย่างสันติ หรือเรียกได้ว่ามันสันติวิธีอย่างหนึ่ง เพราะว่ามันเป็นการใช้อำนาจของประชาชน ในการตัดสินประเด็นต่างๆ หรือเป็นการเลือกผู้ที่จะเข้าไปมีอำนาจในการบริหารประเทศ

 

แต่ในการเลือกตั้งปี 2562 ต้องยอมรับว่า เป็นการเลือกตั้งภายใต้บรรยากาศที่เป็นระบบอำนาจนิยม คือรัฐบาลเผด็จการยังมีอำนาจอยู่ เราจะสังเกตเห็นว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราวยังมีผลใช้บังคับอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่มีการเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นที่หลายคนบอกว่ามันเป็นการสืบทอดอำนาจเผด็จการ มันก็ไม่ผิดเสียทีเดียว

ถามว่าทำไมไม่ผิด เมื่อเราดูรัฐบาลที่เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 นายกรัฐมนตรีก็ยังเป็นคนเดิม คุณจะบอกว่าไม่สืบทอดอำนาจไม่ได้ เพราะอำนาจยังอยู่ในมือคนคนเดิม รองนายกรัฐมนตรีหลายคนก็ยังเป็นคนเดิม หรือรัฐมนตรีบางคนก็ยังเป็นคนเดิม ๆ

บรรดาประกาศคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ก็ยังมีผลใช้บังคับอยู่ รวมทั้งรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งร่างโดยกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญที่แต่งตั้งโดย คสช. ก็มีผลใช้บังคับ ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่ภาคประชาชนมีส่วนร่วมต่ำมาก บางคนอาจจะเพ้อพกไปว่ามี แต่โดยความเป็นจริงแล้ว มันไม่มีเลย ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันเป็นผลพวงของการสืบถอดอำนาจ

 

หากถามว่าทำไมรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งเป็นรัฐบาลที่ผ่านการเลือกตั้งมา ถึงยังมีพฤติกรรมของพวกอำนาจนิยมของพวกเผด็จการอยู่ ก็เป็นเพราะว่าหัวเหมือนเดิม จริตยังเหมือนเดิม ทัศนคติก็เหมือนเดิม

อันนี้ยังไม่นับรวมสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. ที่ได้รับการแต่งตั้งโดย คสช. เข้ามาอยู่ในสภาเต็มไปหมด ทัศนคติของคนเหล่านี้ก็เหมือนเดิม อาจจะหนักกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะว่า เผด็จการยิ่งอยู่ในอำนาจนานเท่าไหร่ ก็ยิ่งลุแก่อำนาจ หลงระเริงในความมีอำนาจของตัวเองมากยิ่งขึ้นเท่านั้น รวมถึงผู้สนับสนุนหรือลิ่วล้อของเผด็จการ ต่างก็หลงระเริงในอำนาจตามไปด้วย เพราะไม่มีใครขัดมานานแล้ว

ในเวลาที่มีคนขัดขึ้นมา มันก็ทำให้รู้สึกว่า แหม มันหงุดหงิดหัวใจเหลือเกิน แล้วก็มักจะตอบโต้ด้วยการใช้อำนาจหรืออะไรก็ตามที่มันเกินขอบเขต อันนี้ก็เป็นผลพวงของการเลือกตั้งปี 2562

ดร.เอกพันธ์ : นอกเหนือไปจากนั้น ถ้าเราสังเกตระบบการเลือกตั้งของปี 2562 ซึ่งถูกระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ รวมทั้งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ เราจะเห็นว่ามันเป็นระบบที่เป็นนวัตกรรมของประเทศไทย มันไม่มีประเทศไหนใช้ กระบวนการในการคิดหรือสร้างระบบนี้ขึ้นมา มันก็ไม่ได้สะท้อนความต้องการที่แท้จริงของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย

เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะว่าระบบการเลือกตั้งที่ออกแบบมา มันไม่ได้สะท้อนความเป็นประชาธิปไตย หรือเอื้ออำนวยให้สังคมของเรามีความก้าวหน้าในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย

ดร.เอกพันธ์ : มากไปกว่านั้น ตัวองค์กรที่จัดการเลือกตั้ง ซึ่งก็คือคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ก็ดูเหมือนว่าไม่ค่อยจะเห็นคุณค่าของการเลือกตั้งสักเท่าไร ไม่ว่าจะเป็นการประกาศคำนวนคะแนน

การสังเกตการณ์การเลือกตั้ง หรือความพยายามที่จะทำให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม สิ่งเหล่านี้ไม่ค่อยได้ถูกสะท้อนโดย กกต. ทั้งที่อย่างน้อยๆ กกต. ควรจะต้องมีจริต ทัศนคติ หรืออุดมคติที่เห็นว่าการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประชาธิปไตย อันนี้เป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่คณะกรรมการการเลือกตั้งควรจะมี

 

ด้วยองค์ประกอบเหล่านี้ผสมรวมๆ กัน เราก็เลยได้รัฐบาลแบบนี้ ได้สภาแบบที่ผ่านมา บางคนอาจจะรักอาจจะชอบ อันนี้ก็ผมไม่มีปัญหาอะไร เพราะว่าในระบบประชาธิปไตย คนรักเผด็จการก็มี คนรักเสรีนิยมก็มี คนรักสังคมนิยมก็มี มันก็ปนๆ กันไป หากคุณอยากจะรัก อยากจะชอบเผด็จการ ผมคิดว่าการพัฒนาประชาธิปไตย จะทำให้คนทุกคนรวมทั้งคนที่รักเผด็จการ มีพื้นที่ในสังคมนี้ร่วมกัน

ถาม : 3 ปีผ่านไป รัฐบาลได้เกรดอะไรจากการจัดการประเด็นความเห็นต่างทางการเมือง

ดร.เอกพันธ์ : ต้องขอเท้าความก่อนว่า ทำไมผู้คนถึงออกมาชุมนุมหลังจากการยุบพรรคอนาคตใหม่

เราทราบกันดีว่า สูตรคำนวนคะแนนการเลือกตั้งของ กกต. มันมีปัญหา แล้วหลายคนก็ยอมรับว่ามีปัญหา แต่ไม่มีใครแก้ รัฐบาลก็ไม่แก้ ทุกคนก็ไม่แก้ กกต.ก็ใช้อำนาจ เพราะว่ามันถูกระบุไว้ในกฎหมายแล้วว่าให้ กกต. เป็นผู้ตัดสินใจ ถึงแม้จะตัดสินใจแบบผิดๆ ก็ตาม ก็สามารถตัดสินใจได้ เพราะว่าถ้าคุณมีอำนาจ แล้วคุณจะตัดสินใจผิด อันนี้ก็เรื่องของคุณ

อย่างไรก็ตาม สูตรคำนวณต่าง ๆ มันทำให้ผลของการเลือกตั้งขัดต่อเจตนารมณ์ของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ขัดต่อความเป็นจริงทางคณิตศาสตร์ ไม่ใช่ความเป็นจริงทางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น คณิตศาสตร์คือหลักการว่าด้วยตรรกะ ถ้าตรรกะมันวิบัติ คนก็จะตั้งคำถามและรู้สึกว่ามันไม่ใช่แล้ว

ด้วยปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ พรรคที่เราเลือกซึ่งควรจะได้คะแนนสูงสุดหรือมีคะแนนนำ กลับไม่ได้คะแนนเท่าที่ควรจะเป็น คนก็ฝังใจกับประเด็นนี้ไปแล้วในระดับหนึ่ง จนมาถึงว่า โอเค ไม่เป็นไร เป็นฝ่ายค้านก็ยังดี ถือว่าเป็นผลการเลือกตั้ง มาถึงตรงนี้ก็ยังไม่พอ ยังไปยุบพรรคเขาอีก

 

ดร.เอกพันธ์ : ถึงแม้ว่าจะเป็นพรรคฝ่ายค้าน แต่ผู้แทนก็คือกระบอกเสียงของประชาชน เพราะฉะนั้นผมคิดว่าเป็นนี่จุดหนึ่งที่ทำให้คนคิดว่า มันไม่ได้แล้วนะ ถ้าปล่อยให้บรรดาอำนาจนิยมทั้งหลายเข้ามาครองอำนาจ แล้วฉุดกระชากลากถูสังคมออกไปแบบนี้ มันคงไม่ไหว

อันนี้จึงน่าจะเป็นจุดเริ่มต้น ที่ทำให้คนออกมาชุมนุมบนท้องถนน ซึ่งไม่ใช่แค่ผู้สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่เท่านั้น แต่มันน่าจะเป็นความรู้สึกร่วมของคนจำนวนมากทีเดียว ที่รู้สึกว่า ผู้ที่มีอำนาจในขณะนั้นจนถึงขณะนี้ กำลังทำให้ประเทศถอยห่างจากความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นเรื่อย ๆ

เราจะเห็นว่าข้อเรียกร้องแรกๆ ของผู้ชุมนุม หลักๆ แล้ว เป็นข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ที่ออกมาชุมนุมต่างคิดว่า ถ้าเรามีหลักการกติการ่วมกันที่ดี เราก็จะมีโอกาสคลี่คลายความขัดแย้งและปมต่างๆ ทางการเมืองมากขึ้น ข้อเรียกร้องที่สองคือ ยุบสภา เพื่อเปิดโอกาสให้เกิดการเลือกตั้งใหม่ ภายหลังการร่างรัฐธรรมนูญใหม่

ดร.เอกพันธ์ : ตรงนี้เป็นตรรกะโดยทั่วไป เมื่อมีรัฐธรรมนูญใหม่ ก็มีการเลือกตั้งใหม่ มีผู้เข้ามาบริหารประเทศชุดใหม่ และอีกข้อเรียกร้องหนึ่ง คือ หยุดการข่มขู่คุกคาม เพราะที่ผ่านมาในอดีต ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์โหวต NO ในประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็มีการฟ้องปิดปากผู้ทำแคมเปญ ถ้าไม่โดนฟ้อง ก็โดนปาของเข้าบ้าน โดนทำร้าย ฯลฯ

สิ่งเหล่านี้คือการข่มขู่คุกคาม หรือแม้กระทั่งการส่งเจ้าหน้าที่ไปติดตามคนเหล่านี้ก็คือการข่มขู่คุกคาม มนุษย์เราคนธรรมดา มันไม่จำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลไปเดินตาม เรามีความปลอดภัยในชีวิตระดับหนึ่ง การที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจไปเดินตาม ถือว่าเป็นการข่มขู่คุกคาม ดังนั้นข้อเรียกร้องอยู่แค่นี้เอง ในช่วงแรก ๆ

 

ในตอนนี้ เราเห็นว่าความเคลื่อนไหวต่าง ๆ อาจจะดูแผ่วลง ซึ่งจริง ๆ มันไม่ใช่ ความเคียดแค้นชิงชัง ความโกรธ ความเกลียด มันยังอยู่เหมือนเดิม แล้วมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ ที่แผ่วลงไปไม่ใช่เพราะว่าถูกข่มขู่ปราบปราม แต่เพราะว่าสภาวะสังคมโดยทั่วไป ความยากจนที่แผ่กระจายไปทั่วประเทศ

ความยากลำบาก ผู้คนตกงาน ถ้าไม่ตกงาน รายได้ก็ลดหายไปกว่าครึ่ง พ่อค้าแม่ค้าแม่ขายทุกคนได้รับผลกระทบไปหมด สิ่งต่าง ๆ ทั้งหลายเหล่านี้ มันประกอบเข้าด้วยกัน และยังสร้างอารมณ์ความรู้สึกที่อัดแน่นเข้าไปอีก

ดร.เอกพันธ์ : เมื่อผู้คนไม่ได้ออกไปชุมนุมหรือทำกิจกรรมอะไรต่าง ๆ ไม่ได้หมายความว่าเขาเลิกเกลียดรัฐบาลนะครับ เพียงแต่เขาอาจจะอยู่ในช่วงจำเป็นที่ต้องใช้ชีวิตหรือทำมาหากินอะไรก่อน

ปัจจัยสำคัญอีกประเด็นหนึ่งคือ ตอนนี้เวลาของรัฐบาลเหลือน้อยลงทุกที ๆ ทุก ๆ เพราะว่ามันใกล้จะเกิดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งถัดไป ผมคิดว่าประชาชนจำนวนมากกำลังเฝ้ารอให้ถึงการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า

ดังนั้น การเคลื่อนไหวอื่นๆ ก็อาจจะไม่ได้มีความเข้มข้นเหมือนช่วงตอนต้นของรัฐบาล เพราะตอนนั้นเวลาของรัฐบาลเหลือเยอะ

 

ดร.เอกพันธ์ : การที่รัฐบาลใช้อำนาจ เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจมาก ๆ เช่นนี้ ถามว่าดูเหมือนสำเร็จจริงหรือไม่ แต่ที่จริงแล้ว มันไม่ใช่

ถ้าเกิดประชาชนอดทนไม่ไหว ลุกฮือขึ้นมา คุณก็อยู่ไม่ได้ แล้วเราจะสังเกตเห็นว่า รัฐบาลที่ใช้อำนาจเช่นนี้ มันไม่ใช่รัฐบาลแรก ไม่ใช่นายกรัฐมนตรีคนแรกที่ทำแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็น จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพล ถนอม กิตติขจร หรือ จอมพล ประภาส จารุเสถียร ในอดีตก็ทำตัวแบบนี้ทั้งนั้น ท้ายที่สุดผลลัพธ์เป็นอย่างไร ก็ประจักษ์กันตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น

เพราะฉะนั้นผมจึงคิดว่า อนาคตของรัฐบาลที่ใช้อำนาจเผด็จการแบบนี้ มันคงไม่ต่างกันหรอก มันจะเกิดขึ้นไม่วันนี้ก็วันหน้า เพราะฉะนั้นจะให้ตัดเกรด ได้เกรดอะไร ผมคิดว่ามันไม่สำคัญ ผมดูที่ผลลัพธ์ของมันมากกว่า ตราบใดที่คุณใช้อำนาจแบบนี้ ใช้อำนาจมากขึ้นๆ ทุกทีๆ กระทำกับประชาชน ทั้งที่จริง ๆ แล้ว ตัวเองก็รับภาษีมาเป็นเงินเดือนด้วยซ้ำ ในท้ายที่สุด มันก็อยู่กันไม่ได้ อยู่ไปก็ไม่รอด

วิธีการที่รัฐใช้ควบคุมดูแลฝูงชนต่าง ๆ ที่ผ่านมา ผมก็ไม่เห็นด้วย และวิธีการที่รัฐปฏิบัติต่อประชาชน ราวกับว่าประชาชนเป็นคู่ตรงข้าม เป็นศัตรู ผมก็ไม่เห็นด้วย

ดร.เอกพันธ์ : โดยหลักการแล้ว รัฐบาลคือผู้ที่อภิบาลรัฐ อภิบาลประชาชน อาณาบริเวณ รวมถึงกฎเกณฑ์กติกาต่าง ๆ ซึ่งจริง ๆ แล้ว ถ้าจะให้ผมตัดเกรดว่า 3 ปีผ่านไป รัฐบาลควรได้เกรดอะไร จากการรับมือปัญหาความเห็นต่างทางการเมือง ผมคงตัดเกรดไม่ได้ เพราะสอบตกทุกกรณี หรือว่าหมดสิทธิสอบด้วยซ้ำ

ถาม : สายไปหรือไม่ สำหรับการหาทางออกให้กับปัญหาความขัดแย้งการเมืองไทย

ดร.เอกพันธ์ : ความขัดแย้งทุกอย่างบนโลก มันมีหนทางในการคลี่คลายเสมอ ไม่มีความขัดแย้งไหน หาทางออกไม่ได้ เพียงแต่ว่า เราอาจจะมองแค่ช่วง 3 ปีที่ผ่านมาไม่ได้นะ เราต้องมองย้อนกลับไปก่อนการรัฐประหารในปี 2557 ด้วยซ้ำ

ปัญหาก็คือ ด้วยความที่ฝ่ายหนึ่งมีอำนาจมาก กุมอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ อีกฝ่ายหนึ่ง คือ ฝ่ายประชาชนไม่ได้มีอำนาจต่อรองอะไร เพราะฉะนั้น สมดุลอำนาจระหว่างทั้งสองฝ่ายมันต่างกันมากขนาดนี้ โอกาสที่จะขยับความสมดุลตรงนี้เข้ามา มันอาจจะต้องใช้กระบวนการหลายอย่าง แต่ถ้าผู้ที่มีอำนาจมากไม่ยอมปรับความสมดุลตรงนี้ การต่อสู้ของภาคประชาชนก็เป็นเรื่องปกติ


ดร.เอกพันธ์ : เรามักจะคิดว่ากระบวนการในการคลี่คลายความขัดแย้ง อาจจะต้องไปนั่งเจรจาหรือพูดคุย ซึ่งอันนี้เป็นมุมแคบนะ บางครั้งการต่อสู้โดยวิธีที่ไม่ใช้ความรุนแรง มันก็เป็นการสร้างสมดุลของอำนาจขึ้นมานะครับ เพื่อที่จะนำไปสู่การคลี่คลายความขัดแย้งนั้น

ตราบใดที่ความสมดุลของอำนาจมันไม่มี หรือมีน้อยมาก โอกาสที่จะมาพูดคุยกันหรือยอมรับอะไรร่วมกัน มันก็น้อย แต่ถ้าเกิดมีการต่อสู้จากภาคประชาชนขึ้นมาจนความสมดุลอำนาจมันใกล้เคียงกัน มันก็สามารถหาข้อยุติหรือหาข้อตกลงในประเด็นความขัดแย้งได้ เพราะฉะนั้นกระบวนการการต่อสู้กับผู้มีอำนาจ มันยังมีความจำเป็น


ดร.เอกพันธ์ : ผมได้เรียนไปแล้วว่า การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมจริงๆ มันเป็นเครื่องมือในการคลี่คลายความขัดแย้งได้ในระดับหนึ่ง เป็นเครื่องมือที่ดีด้วย หรือแม้กระทั่งการทำประชามติก็เป็นเครื่องมือที่คลี่คลายความขัดแย้งได้

เพราะฉะนั้นถ้าเราทำให้การเลือกตั้งทั่วไปในครั้งหน้า มีความบริสุทธิ์ยุติธรรม เป็นที่ยอมรับ มีกติกาเป็นที่ยอมรับ และถ้าสามารถทำประชามติเรื่องการแก้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควบคู่กันไปด้วย ซึ่งตอนนี้อาจจะติดเงื่อนไขทางกฎหมายอยู่ ถ้าทำด้วยกันได้ มันก็จะคลี่คลายปมที่ผูกกันมามากมาย โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปตั้งโต๊ะเจรจาหรือพูดคุยกันกับตัวแทนของแต่ละฝ่าย

เราต้องปล่อยให้กลไกประชาธิปไตย มันคลี่คลายปมประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองด้วยตัวมันเอง ผมคิดว่านี่อาจจะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราต้องลองหันมาดูกระบวนการเหล่านี้กัน

ถาม : ความหวาดระแวงว่าจะไม่มีการเลือกตั้งครั้งหน้า

ดร.เอกพันธ์ : ด้วยความที่เราอยู่ภายใต้ระบบอำนาจนิยมมานาน และประเทศนี้ ก็เป็นประเทศที่รัฐประหารกันเฉลี่ย 4.2 ปีต่อครั้ง ตลอดระยะเวลาที่เราเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ทุกอย่างจึงดูเป็นไปได้หมด แต่ผมคิดว่า ณ วันนี้ คนที่จะกล้าขึ้นมากระทำการรัฐประหาร คงจะต้องคิดหนักในระดับหนึ่ง

เขาต้องเข้าใจว่าประเทศเรา สังคมเรา มันเปลี่ยนไปแล้ว ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงโดยธรรมชาติของสังคมโลกเลย ไม่ใช่เฉพาะประเทศเราเท่านั้น เพราะฉะนั้น ถ้าคุณคิดว่าคุณจะฝืนกระแสประชาชน ฝืนกระแสโลก ผมคิดว่ามันคงจบไม่สวยแน่ ๆ แล้วก็เวลาคนเรามีอำนาจเยอะๆ ก็มักจะนึกว่าอำนาจนั้น มันเป็นสิ่งจีรังยั่งยืน

แต่เราสังเกตไหมครับ ไม่ต้องมีทฤษฎีใดๆ เมื่อมองย้อนกลับไปยังประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ มันไม่มีอะไรที่จีรังยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาอำนาจของพวกที่ใช้อำนาจเกินขอบเขต ดังนั้น เมื่อคุณขึ้น (สู่อำนาจ) ได้ ตอนคุณลงมา (จากอำนาจ) คุณก็ควรระวัง อาจจะเจ็บตัว หรือร่วงลงมา

 

ดร.เอกพันธ์ : หากถามว่า มีโอกาสไหมที่จะมีคนหาญกล้ากระทำการรัฐประหารอีก ผมคิดว่าด้วยตรรกกะแบบนี้ คงมีคนจำนวนหนึ่งที่อยากจะทำให้เกิดการรัฐประหาร หรือกระทำการรัฐประหารตัวเองก็ได้ ผมก็อยากจะบอกว่า พวกเรารวมถึงตัวผม เป็นพวกไม่เอารัฐประหารอยู่แล้ว ผมคิดว่าพวกเราก็คงรอต้อนรับด้วยวิธีการอีกแบบหนึ่ง ถึงอย่างไร ก็คงต้องดูกันต่อไป

ทางที่ดี ทางที่สะดวกสบาย มันมีอยู่แล้ว อย่างที่ผมเรียนไปว่า ระบบประชาธิปไตยต้อนรับทุกๆ คน คำว่าต้อนรับทุกๆ คน หมายความว่า ถึงแม้สมมติว่าคุณเป็นพวกขวาจัด เป็นพวกอนุรักษ์นิยม เป็นพวกอำนาจนิยม เสรีนิยม สังคมนิยม หรือไม่นิยมอะไรเลย ฯลฯ คุณก็สามารถอยู่ในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยได้

ดร.เอกพันธ์ : สังคมประชาธิปไตยเป็นสังคมที่โอบอุ้มคนที่มีความคิดต่าง ๆ กันได้อย่างมากมาย เพราะฉะนั้นถ้าคุณรักเผด็จการ ให้คุณลองเข้ามาอยู่ในสังคมประชาธิปไตยครับ คุณก็จะสามารถชื่นชมเผด็จการไปได้เรื่อย ๆ เพราะคุณก็จะมีสิทธิเสรีภาพในระดับหนึ่ง ที่จะจัดการ ที่จะชื่นชมความบ้าอำนาจของคน หรืออะไรก็แล้วแต่ หรือถ้าคุณเป็นเสรีนิยม คุณก็จะมีพื้นที่อยู่ในขอบเขตของประชาธิปไตย

ไม่ว่าคุณจะรักฝ่ายไหนก็ตาม ผมอยากให้เรามาลองพัฒนาสังคมไทยให้มีความเข้มแข็งตามแนวทางประชาธิปไตย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง