กระแสน้ำแรง! เรือลากจูงชนตอม่อสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา

ภัยพิบัติ
23 ส.ค. 65
18:36
192
Logo Thai PBS
กระแสน้ำแรง! เรือลากจูงชนตอม่อสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มการระบายน้ำ ทำให้น้ำไหลแรง จนเรือลากจูงเบียดชนกับตอม่อสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ใน จ.พระนครศรีอยุธยา ขณะที่น้ำท่วมขังในภาคเหนือเริ่มลดลง แต่จุดที่ต้องเฝ้าระวัง คือพื้นที่รับน้ำ

วันนี้ (23 ส.ค.2565) เกิดเหตุเรือลากจูง 1 ลำ ลากเรือมาอีก 4 ลำ ก่อนที่เรือลำสุดท้ายจะสะบัดชนกับตอม่อสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ใน จ.พระนครศรีอยุธยา 

ผู้เห็นเหตุการณ์ ระบุว่า ช่วงที่เกิดเหตุเสียงดังสนั่น ขณะที่แรงชนทำให้ "หัวเรือด้านซ้าย" แตก เจ้าพนักงานตรวจเรือได้ควบคุมเรือไปจอดที่ท่า ไม่ให้ขวางร่องน้ำ ส่วนตอม่อสะพาน มีรอยบิ่น วิศวกรเข้าตรวจสอบโครงสร้างหลัก สำหรับสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ในความดูแลของทางหลวงชนบท ซึ่งเจ้าท่าฯ ได้ประสานให้แจ้งความแล้ว

ผู้อำนวยการเจ้าท่า สาขาอยุธยา ระบุว่า เขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มการระบายน้ำ ทำให้น้ำมาก กระแสน้ำแรง ประกอบกับเป็นโค้งน้ำ ทำให้เรือเสียการทรงตัว

เขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มการระบายน้ำ

ขณะที่ฝนตกหนักในภาคเหนือ ทำให้น้ำจากตอนบนไหลลงมาสู่ จ.นครสวรรค์ ที่สถานีวัดน้ำ C2 ปริมาณน้ำ 1,500-1,900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งถือว่าน้ำมาก ชลประทานจึงต้องเพิ่มการระบายน้ำ ลงมายังพื้นที่ท้ายน้ำ ซึ่งเมื่อไหลมารวมกับแม่น้ำสะแกกรัง และแม่น้ำสาขาอื่น ๆ ทำให้ "น้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา" อยู่ที่ 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงต้องปรับการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา เป็น 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

สำหรับพื้นที่ที่ได้รับกระทบตั้งแต่ อ.ผักไห่ หัวเวียง เสนา และบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา โดยเฉพาะประชาชนริมแม่น้ำน้อย และคลองโผงเผง จ.อ่างทอง

ขณะที่พื้นที่ลุ่มต่ำ อ.บางบาล น้ำเริ่มท่วมใต้ถุนบ้าน แม้ชาวบ้านจะบอกว่า น้ำยังไม่มากเท่าปีที่แล้ว แต่เป็นห่วงเดือนหน้าที่จะเป็นช่วงน้ำหลาก


ทั้งนี้ 3 ปัจจัย ที่ประกอบกัน คือ ฝนตกในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน เขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มการระบายน้ำ และน้ำทะเลหนุนสูง ทำให้พรุ่งนี้ (24 ส.ค.2565) ถึง 29 ส.ค.นี้ ระดับน้ำจะสูงขึ้นเฉลี่ย 2 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง พื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังผลกระทบ คือ ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำ และแนวฟันหลอ ไม่มีเขื่อนใน จ.นนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร

พร่องน้ำเฝ้าระวังน้ำท่วมเมืองสุโขทัย

ส่วนสถานการณ์น้ำในแม่น้ำยมที่จะไหลผ่าน จ.พะเยา แพร่ สุโขทัย และพิษณุโลก มีน้ำท่วมใน จ.แพร่ จุดรับน้ำต่อไป คือ สุโขทัย ซึ่งชลประทานจังหวัด คาดว่า น้ำจาก จ.แพร่ จะมาถึงตัวเมืองสุโขทัย 20.00 น. พรุ่งนี้ 


ทั้งนี้ ประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์ เร่งพร่องน้ำป้องกันเมืองสุโขทัย ส่วนชลประทานจังหวัดสุโขทัย ประเมินว่า น้ำมากแต่จะท่วมหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการจัดการ และปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ อย่างฝนด้วย ส่วนในเมืองป้องกันด้วยการเสริมกระสอบทรายพื้นที่ชั้นใน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง