กต.แถลงตอบโต้สหรัฐฯ จัดไทยอยู่ "เทียร์ 3" รายงานการค้ามนุษย์

ต่างประเทศ
28 ก.ค. 58
08:35
115
Logo Thai PBS
กต.แถลงตอบโต้สหรัฐฯ จัดไทยอยู่ "เทียร์ 3" รายงานการค้ามนุษย์

วันนี้ (28 ก.ค.2558) พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีที่สหรัฐอเมริกา คงสถานะของไทยอยู่ในบัญชีที่ 3 (เทียร์ 3) ของรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี 2015 (Trafficking in Persons report) ยืนยันว่าไทยได้พยายามแก้ปัญหาการค้ามนุษย์อย่างเต็มที่แล้ว และเชื่อว่าผลการประเมินในปีหน้าจะดีขึ้น พร้อมกับระบุว่าได้ส่งหนังสือชี้แจงไปแล้วว่า รายงานนี้ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ที่รัฐบาลพยายามแก้ปัญหามาตลอด แต่ก็ยอมรับในผลการพิจารณา

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยังระบุอีกว่าหลังจากนี้จะเร่งทำงานแก้ปัญหา อีกทั้งสหรัฐฯ ยืนยันจะสนับสนุนเรื่องนี้ จึงคาดว่าผลการจัดอันดับในปีหน้าจะดีขึ้น พร้อมแสดงความยินดีกับมาเลเซียที่ถูกปรับจากระดับเทียร์ 3 ขึ้นไปอยู่เทียร์ 2 

"เรายืนยันว่ารัฐบาลไทยยังมุ่งมั่นต่อต้านการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง  บนพื้นฐานของความมั่นคงของประเทศและของภูมิภาคอาเซียน และการปกป้องสิทธิมนุษยชน" พล.อ.ธนะศักดิ์กล่าว

นอกจากนี้กระทรวงการต่างประเทศได้ออกแถลงการณ์ต่อกรณีการจัดอันดับประเทศในรายงาน TIP report ระบุว่า ทางการไทยรับทราบผลการจัดอันดับให้ประเทศไทยอยู่ในระดับ Tier 3 ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศเห็นว่า "ไม่สะท้อนความพยายามและความก้าวหน้าในการดำเนินการต่อต้านการค้ามนุษย์ของไทยที่เกิดขึ้นจริงในช่วงปีที่ผ่านมาซึ่งมีก้าวหน้าอย่างมากในหลายด้าน"

"ตั้งแต่รัฐบาลปัจจุบันเข้าปฏิบัติหน้าที่เมื่อเดือนสิงหาคม 2557 รัฐบาลได้ปฏิรูปการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ทั้งระบบส่งผลให้เกิดความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมในทุก ๆ ด้าน เช่น (1) ด้านนโยบาย รัฐบาลได้ประกาศย้ำให้การต่อต้านการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติและจัดตั้งกลไกระดับชาติซึ่งมีนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้ามาร่วมขับเคลื่อน มีการแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ โดยเฉพาะพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (2) ด้านการบังคับใช้กฎหมาย มีการทลายเครือข่ายผู้กระทำผิดค้ามนุษย์รายสำคัญ มีการจับกุม ดำเนินคดีและลงโทษเจ้าหน้าที่ระดับสูงซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ (3) ด้านการป้องกัน มีการแก้ไขและจัดระเบียบแรงงานในภาคประมง รวมถึงการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวจำนวนกว่า 1.6 ล้านคนให้ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเช่นเดียวกับคนไทย และแก้ปัญหาที่ต้นทางโดยลดความเสี่ยงที่แรงงานเหล่านี้จะตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์และการถูกเอาเปรียบ  (4) ด้านการคุ้มครอง การเพิ่มประสิทธิภาพการคัดแยกและการดูแลคุ้มครองผู้เสียหาย (5) ด้านความร่วมมือและการสร้างความเป็นหุ้นส่วน ประเทศไทยได้มีบทบาทนำทั้งในกรอบทวิภาคีและภูมิภาคในการป้องกันแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์บนพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชนและความมั่นคง"

"อย่างไรก็ดี รัฐบาลไทยยังคงมุ่งมั่นดำเนินการต่อต้านการค้ามนุษย์อย่างจริงจังต่อไป เพื่อความมั่นคงและมนุษยธรรม พร้อมกับเพิ่มพูนความร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ตลอดจนขยายความร่วมมือกับประเทศและองค์การระหว่างประเทศต่อไป" แถลงการณ์ระบุ

ขณะที่ศาสตราจารย์สุรชัย ศิริไกร อาจารย์พิเศษสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความเห็นว่า สิ่งที่ทำให้สหรัฐอเมริกาไม่ปรับอันดับการค้ามนุษย์ของไทยให้ดีขึ้น คือ ความล่าช้าในการดำเนินการจัดการปัญหาของไทย ความพยายามของสหรัฐฯ ในการกดดันไทย เพื่อให้เกิดความร่วมมือด้านอื่นๆ และปัจจัยสำคัญ คือ ท่าทีของกระทรวงการต่างประเทศที่ไม่มีความพยายามเพียงพอในการเจรจาภายใน ทั้งที่สามารถทำได้

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ประเมินด้วยว่า หากหลังจากนี้ รัฐบาลไทยต้องเร่งปรับมาตรการด้านความร่วมมือกับสหรัฐฯ โดยอาศัยความสัมพันธ์ที่มีมาอย่างยาวนาน และกำหนดท่าทีในการแสดงออกอย่างชัดเจน ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อการประเมินอันดับการค้ามนุษย์ในปีต่อไป

ด้านองค์การฮิวแมนไรทส์ วอทช์ ออกแถลงการณ์ตอบโต้รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ทั่วโลกที่ปรับสถานะของประเทศมาเลเซียจากบัญชีกลุ่มที่ 3 หรือเทียร์ 3 เช่นเดียวกับไทย มาอยู่ที่บัญชีกลุ่ม 2 ประเทศที่ต้องจับตา (Tier 2 Watch List) โดยระบุว่าอัตราเหยื่อการค้ามนุษย์ในมาเลเซียยังมีจำนวนมาก การปรับระดับของมาเลเซียขึ้นเป็นบัญชีกลุ่มที่ 2 ประเทศที่ต้องจับตามอง จึงน่าจะเป็นการทำเพื่อบรรลุความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ ทีพีพี และรักษาผลประโยชน์ด้านการเมืองและการค้าของสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก

ขณะที่นางซาราห์  ซีวอลล์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ด้านมนุษยธรรมปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว โดยระบุว่า การถอนรายชื่อของมาเลเซียออกจากบัญชีกลุ่มที่ 3 ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองและการค้าระหว่างประเทศ พร้อมกับยืนยันว่ารัฐบาลมาเลเซียมีความพยายามแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง

ติดตามข่าวสารผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ไทยพีบีเอสออนไลน์
https://www.facebook.com/ThaiPBSNews?ref=hl



ข่าวที่เกี่ยวข้อง