วิเคราะห์...ท่าทีสหรัฐฯ-ยุโรปต่อผู้อพยพซีเรีย หลังก่อการร้ายกรุงปารีส

ต่างประเทศ
18 พ.ย. 58
13:58
490
Logo Thai PBS
วิเคราะห์...ท่าทีสหรัฐฯ-ยุโรปต่อผู้อพยพซีเรีย หลังก่อการร้ายกรุงปารีส

ปัญหาผู้อพยพจากตะวันออกกลางและแอฟริกาที่ทะลักเข้าสู่ทวีปยุโรปมากเป็นประวัติการณ์ในปี 2559 สาเหตุหนึ่งมาจากปัญหาการสู้รบในประเทศซีเรียที่ยืดเยื้อมานานถึง 4 ปี ทำให้ยุโรปต้องรับภาระหนักในการดูแลผู้อพยพ ขณะที่ บารัค โอบามา ปธน.สหรัฐฯ ประกาศเดินหน้ารับผู้อพยพชาวซีเรีย 10,000 คนให้เข้ามาอาศัยในสหรัฐอเมริกาในปีหน้า ทำให้ขณะนี้ผู้ว่าการรัฐมากกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งประเทศสหรัฐฯ ประกาศว่าจะไม่ยอมรับผู้อพยพชาวซีเรีย เพราะเกรงว่าสมาชิกกลุ่มก่อการร้ายอาจจะปะปนเข้ามากับผู้อพยพเหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับฝรั่งเศส

จากข้อมูลของสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นพบว่าตอนนี้มีผู้ว่าการรัฐ 31 รัฐ จากทั้งหมด 50 รัฐในสหรัฐอเมริกา ที่ประกาศว่าจะไม่ยอมรับผู้อพยพซีเรีย ซึ่งผู้ว่าการรัฐเกือบทั้งหมดมาจากพรรคริพับลิกัน รัฐที่ไม่ยอมรับผู้อพยพจะเป็นสีแดง ส่วนสีเขียวคือรัฐที่ประกาศจุดยืนว่าพร้อมต้อนรับผู้อพยพที่หนีภัยการสู้รบเพื่อชีวิตที่ดีกว่า ซึ่งมีเพียง 7 รัฐเท่านั้นได้แก่ โคโลราโด้ คอนเน็คติกัต เดลาแวร์ ฮาวาย เพนซิลวาเนีย เวอร์มอนท์ และวอชิงตัน

นายเกร็ก แอ็บบ็อตต์ ผู้ว่าการรัฐเท็กซัส โพสต์ข้อความในเว็บไซท์ทวิตเตอร์ว่า "รัฐเท็กซัสจะไม่ยอมรับผู้อพยพชาวซีเรียและเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาทำเช่นเดียวกัน ความมั่นคงต้องมาก่อน"

เช่นเดียวกับนายโรเบิร์ต เบนท์ลี่ย์ ผู้ว่าการรัฐอลาบาม่า ระบุว่า "จะไม่ยอมร่วมทำผิด เนื่องจากนโยบายนี้ทำให้ประชาชนในอลาบาม่าตกอยู่ในอันตราย เราขอปฏิเสธผู้อพยพชาวซีเรีย"

อย่างไรก็ดี ผู้ว่าการรัฐไม่มีอำนาจตัดสินใจว่าจะยอมรับหรือไม่ยอมรับผู้อพยพ โดยอำนาจการตัดสินใจเด็ดขาดอยู่ที่รัฐบาลกลาง แต่ในเมื่อผู้ว่าการรัฐบาลออกมาแถลงจุดยืนเช่นนี้ อาจจะทำให้กระบวนการในการรับผู้อพยพของแต่ละรัฐยุ่งยากมากขึ้น นอกจากนี้การแสดงจุดยืนของผู้ว่าการรัฐอาจจะเกี่ยวข้องกับการสร้างฐานเสียงสำหรับการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในช่วงปลายปี 2559 

ส่วนสถานการณ์ของผู้อพยพในยุโรปปี 2558 ถือว่ารุนแรงเป็นประวัติการณ์ ข้อมูลจากยูโรสแตท ระบุว่า นับตั้งแต่เดือนม.ค.-ก.ค.ปี 2558 มีผู้อพยพเข้าทวีปยุโรป 715,755 คน แต่นี่คือตัวเลขอย่างเป็นทางการที่ผู้อพยพลงทะเบียนไว้กับประเทศต้นทาง แต่เชื่อว่ามีผู้อพยพอีกจำนวนมากที่เล็ดรอดเข้ามาในยุโรปโดยไม่ได้ลงทะเบียน จึงเป็นไปได้ว่าตัวเลขผู้อพยพที่แท้จริงอาจจะสูงกว่า 1,000,000 คน และประเทศที่ผู้อพยพต้องการเข้าไปอยู่มากที่สุดคือเยอรมนี โดยมีผู้อพยพยื่นเรื่องขอสถานะผู้ลี้ภัยในเยอรมนีมากกว่า 331,000 คน นี่เป็นข้อมูลช่วงสิ้นเดือนต.ค.ที่ผ่านมา รองลงมาคือประเทศฮังการี มีผู้ยื่นขอสถานะผู้ลี้ภัย 143,070 คน

ขณะที่ผู้อพยพที่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยในยุโรปเมื่อปี 2557 มีทั้งสิ้น 184,665 คน โดยสัญชาติที่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยมากที่สุดคือซีเรีย รองลงมาคือเอริเทรีย อัฟกานิสถาน อิรักและอิหร่านส่วนประเทศที่รับผู้ลี้ภัยมากที่สุดคือ เยอรมนี ปี 2557 รับไปทั้งสิ้น 47,555 คน รองลงมาคือสวีเดน 33,025 คน ตามด้วยฝรั่งเศส อิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร 

การก่อวินาศกรรมในกรุงปารีสของฝรั่งเศส ยิ่งทำให้กระแสต่อต้านชาวมุสลิมในยุโรป ซึ่งมีอยู่แล้วได้รับการสนับสนุนมากขึ้น กลุ่มที่มีชื่อเสียงมากที่สุดกลุ่มหนึ่งคือ "เพกีด้า" กลุ่มเพกีด้า  มีชื่อเต็มว่า แพทริอ็อต ยูโรเปี้ยน อะเก้นส์ ดิ อิสลามิเซชั่น ออฟ ดิ อ็อคซิเดนท์ ซึ่งมีความหมายว่า "ผู้กล้าแห่งยุโรปที่ต่อต้านการยึดครองตะวันตกโดยมุสลิม " กลุ่มนี้ก่อตั้งโดยนายลุทซ บาชค์แมน ที่อยู่ในเมืองเดรสเดน ประเทศเยอรมนี ก่อตั้งเมื่อเดือนต.ค.ปี 2557 และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนอย่างถูกต้องตามกฎหมายเมื่อปลายปี 2557

ที่ผ่านมาการเคลื่อนไหวของกลุ่มเพกีด้าไม่ว่าจะเป็นการเดินขบวนต่อต้านชาวมุสลิม มักจะถูกขัดขวางจากทางการและประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ แต่หลังจากที่เกิดเหตุโจมตีสำนักพิมพ์ของนิตยสาร"ชาร์ลี เอบโด" ในกรุงปารีส ช่วงต้นเดือน ม.ค. 2558 กลุ่มไอเอสอ้างว่าเป็นผู้ลงมือ ทำให้มีคนเข้าร่วมกลุ่ม "เพกีด้า" มากขึ้น อย่างการเดินขบวนต่อต้านมุสลิมเมื่อวันที่ 19 ต.ค.ที่ผ่านมาในเมืองเดรสเดนของเยอรมนีมีประชาชนเข้าร่วมมากถึง 200,000 คน ซึ่งวันดังกล่าวตรงกับวันครบรอบการก่อตั้งองค์กร กลุ่มเพกีด้าออกแถลงการณ์เรียกผู้อพยพชาวมุสลิมว่า "ผู้บุกรุก" และตอนนี้เยอรมนีกลายเป็น "ที่ทิ้งขยะชาวมุสลิม" การที่รัฐบาลเยอรมนีเปิดรับผู้อพยพชาวมุสลิม เท่ากับเป็นการ"ใช้กิโยตินประหารประชาชนของตัวเอง" พร้อมเสนอให้รัฐบาลขับไล่คนกลุ่มนี้ออกไปให้หมด หรือไม่ก็ทำค่ายกักกันผู้อพยพชาวมุสลิม  


ข่าวที่เกี่ยวข้อง