แนะรัฐรอศาลฎีกาชี้ก่อนจ่ายค่าโง่คลองด่าน หวั่นเหมือนจำนำข้าว-กลุ่มเอกชนได้เปรียบ

สิ่งแวดล้อม
19 พ.ย. 58
12:24
233
Logo Thai PBS
แนะรัฐรอศาลฎีกาชี้ก่อนจ่ายค่าโง่คลองด่าน หวั่นเหมือนจำนำข้าว-กลุ่มเอกชนได้เปรียบ

ภาคประชาชนแนะ “ประยุทธ์” ชะลอจ่ายเงินเอกชนคดีบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ให้รอคำตัดสินศาลฎีกา ระบุหากจ่าย รัฐบาลอาจต้องรับผิดชอบเหมือนคดีจำนำข้าวของอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เหตุทำให้ประเทศชาติเสียหาย

วันนี้ (19 พ.ย.) เวลา 11.00 น. ที่สำนักงานมูลนิธิบูรณะนิเวศ ถ.งามวงศ์วาน ภาคประชาชนโดย น.ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการสำนักงานมูลนิธิบูรณะนิเวศ และนางดาวัลย์ จันทรหัสดี อดีตแกนนำประชาชน ต.คลองด่าน แถลงข่าวแสดงจุดยืน ไม่เห็นด้วยกับมติครม. เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2558 เห็นชอบให้สำนักงบประมาณเบิกจ่ายงบประมาณ 9,600 ล้านบาท เพื่อชำระค่าเสียหายเป็น 3 งวด ให้แก่บริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย ต.คลองด่าน จ.สุมทรปราการ ตามคำพิพากษาของศาลปกครอง และขอให้ทบทวนชะลอการจ่ายเงินดังกล่าว พร้อมศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการพิจารณาคดีประกอบก่อนชำระเงิน ด้วยเห็นว่าเป็นการจ่ายค่าโง่ซ้ำซาก และมีช่องทางหลีกเลี่ยงความเสียหายแก่งบประมาณแผ่นดิน อันเกิดจากการด่วนตัดสินใจจ่ายเงินแก่กลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG

น.ส.เพ็ญโฉมกล่าวว่า ปัจจุบันการต่อสู้คดีอาญากรณีการฉ้อโกงสัญญาที่กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เป็นผู้ฟ้องคดีบริษัทเอกชน 19 ราย (คดีอาญาศาลแขวงดุสิต 254/2547) ยังไม่ถึงที่สุด และยังอยู่ในการพิจารณาของศาลฎีกา รัฐบาลจึงควรรอให้การพิจารณาคดีนี้ถึงที่สุด โดยคาดว่าจะตัดสินปลายปี 2558 หรือต้นปี 2559 ก่อนตัดสินใจดำเนินการชำระเงินค่าเสียหายแก่บริษัทเอกชน ตามการตัดสินของสถาบันอนุญาโตตุลาการ และตามการชี้ขาดของศาลปกครองสูงสุด

น.ส.เพ็ญโฉมกล่าวเพิ่มว่า หากศาลฎีกามีคำพิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษเป็นผู้ชนะคดี และบริษัทเอกชนเป็นผู้แพ้คดีเพราะฉ้อโกง ตามหลักกฎหมาย การดำเนินการใดๆ ให้ถือตามคำตัดสินของศาลอาญาเป็นหลัก ไม่ใช่การตัดสินของศาลแพ่ง ศาลปกครอง หรือสถาบันอนุญาโตตุลาการ ซึ่งมีผลสืบเนื่องไปยังการตัดสินคดีในประเภทเดียวกันที่เอาคำสั่งศาลไปเทียบเคียง แต่หากรัฐบาลชุดปัจจุบันที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องการเดินหน้า ก็อาจต้องรับผิดชอบต่อเรื่องนี้เช่นเดียวกับที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต้องรับผิดชอบต่อกรณีทุจริตจำนำข้าว

“หากรัฐบาลผลีผลามจ่ายเงินค่าเสียหายแก่เอกชน ตามคำตัดสินของสถาบันอนุญาโตตุลาการและศาลปกครอง โดยไม่รอฟังผลการพิจารณาของศาลฎีกา รัฐบาลจะไม่สามารถทวงเงินที่จ่ายให้กับบริษัทเอกชนกลับคืนสู่รัฐได้อีกเลย เมื่อเป็นเช่นนั้น หากในอนาคตมีผู้ฟ้องร้องว่ารัฐบาลหละหลวมในการดำเนินการเรื่องนี้ จนเป็นเหตุให้ประเทศชาติเสียหาย รัฐบาลชุดนี้ต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อเงินจำนวนดังกล่าว” ผอ.สำนักงานมูลนิธิบูรณะนิเวศ ระบุ

น.ส.เพ็ญโฉมกล่าวถึงทางแก้ไขในเรื่องนี้ว่า รัฐบาลควรปรึกษาและขอคำแนะนำจากคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าควรจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร เพื่อให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า ครม.ควรชำระเงิน 9,600 ล้านบาทหรือไม่

“มูลนิธิเห็นว่า ที่ผ่านมาการเสนอเรื่องแก่ครม.ให้ชำระเงินให้บริษัทเอกชน ขาดการนำเสนอข้อมูลหลายอย่างเพื่อประกอบการพิจารณา รวมถึงการต่อสู้ของกรมควบคุมมลพิษในชั้นศาล ก็ขาดข้อมูลสำคัญในการประกอบการต่อสู้ จึงเกิดคำถามว่า รัฐบาลในนามของกรมควบคุมมลพิษ มีความจริงใจต่อสู้คดีเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติแค่ไหนอย่างไร และที่จริงเป็นโอกาศดีที่รัฐบาลภายใต้ คสช. ซึ่งมีอำนาจจะล้างบางการทุจริตที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติ 20,000-30,000 ล้านบาท ครั้งนี้ เพราะรัฐบาลชุดที่ผ่าน ๆ มา ทั้งจากพรรคประชาธิปัตย์ ไทยรักไทย หรือเพื่อไทย ต่างมีผู้เกี่ยวข้องอยู่ในรัฐบาลทั้งสิ้น” ผอ.สำนักงานมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าว

ด้าน นางดาวัลย์ ตั้งข้อสังเกตว่า การรีบจ่ายเงิน 9,600 ล้านของรัฐบาล เป็นเพราะกลัวบริษัทเอกชนแพ้คดีใช่หรือไม่ จึงมีการล็อบบี้ให้รัฐเร่งจ่ายเงินก่อนที่จะมีคำพิพากษาจากศาลฎีกาในคดีฉ้อโกงการเช่าที่ดิน นอกจากนี้ ยังพบกว่าการดำเนินคดีที่ผ่านมาไม่มีความจริงจังในการเอาผิดผู้กระทำผิด

อดีตแกนนำคัดค้านบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน กล่าวว่า ที่ไม่เห็นด้วยอีกประการ คือการอนุมัติเงิน 300 ล้านบาท เพื่อศึกษาถึงความเป็นไปได้ ในการนำบ่อบำบัดน้ำเสีย ไปใช้อย่างอื่น หรือดำเนินโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียต่อเนื่อง เพราะที่ผ่านมามีการศึกษาโดยนักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่ามูลค่าทรัพยากรในพื้นที่มีมากกว่าที่จะจัดทำเป็นบ่อบำบัดน้ำเสีย และหากจะดำเนินโครงการต่อไป ต้องต่อท่อลงในทะเลยาวกว่า 10 กิโลเมตร ซึ่งต้องใช้งบประมาณเพิ่มอีกนับหมื่นล้านบาท เพื่อให้ระบบนิเวศในพื้นที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด นอกจากนี้ การใช้งบประมาณเพื่อศึกษาต่อยู่ที่ 5-10 ล้านบาทก็ครอบคลุมแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีทุจริตสร้างบ่อบัดน้ำเสีย ต.คลองด่าน นับเป็นคดีทุจริตคอร์รัปชั่นที่ใหญ่ที่สุดคดีหนึ่งของประเทศไทย โดยเริ่มต้นโครงการในปี 2537-2538 และรัฐบาลมีคำสั่งยกเลิกสัญญาโครงการเมื่อ 24 ก.พ. 2546 ด้วยหลักฐานว่าบริษัทเอกชนทำผิดเงื่อนไขของการทำสัญญา Turn Key เนื่องจาก NWWI ชื่อย่อของบริษัทร่วมค้า NVPSKG หรือ N คือ บริษัท นอร์ธเวส วอเตอร์อินเตอร์เนชันแนล จำกัด (ประเทศอังกฤษ) V คือ บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้างจำกัด (นายพิษณุ ชวนะนันท์) P คือ บริษัท ประยูรวิศว์การช่าง จำกัด (ตระกูลลิปตพัลลภ) S คือ บริษัท สี่แสงการโยธา (1979) จำกัด (นายสิโรจน์ วงศ์สิโรจน์กุล) K คือ บริษัท กรุงธนเอนนิเยียร์ จำกัด (นายนิพนธ์ โกศัยนพกุล) และ G คือ บริษัท เกตเวย์ ดิเวลลอปเมนต์ จำกัด ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการน้ำเสีย ถอนตัวออกก่อนวันทำสัญญา ร่วมด้วย บริษัท ไทยเรืองอุตสาหกรรม บริษัท ปาล์มบีช ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด (นายวัฒนา-นายสมพร อัศวเหม และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นผู้ถือหุ้น) และบริษัท คลองด่านมารีน แอนด์ ฟีชเชอร์รี จำกัด (นายอิศราพร ชุตาภา)

นอกจากนี้จากการตรวจสอบการทุจริต ของคณะกรรมการที่รัฐบาลได้แต่งตั้งขึ้นมาพบว่า การรวบรวมที่ดินเพื่อขายแก่โครงการเป็นการรวบรวมโดยมิชอบ โดยรัฐต้องสูญเสียราคาที่ดินเป็นจำนวนเงิน 1,956 ล้านบาท จากราคาประเมิน 900 ล้านบาท และการเปลี่ยนมติให้ก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียที่ ต.คลองด่าน ซึ่งต้องรวบรวมน้ำเสียจากฝั่งตะวันออกของ จ.สมุทรปราการ มาบำบัดที่ฝั่งตะวันตก ยังทำให้รัฐต้องเพิ่มงบประมาณโครงการจากเดิม 12,866 ล้านบาท เป็น 22,955 ล้านบาท เป็นมูลเหตุให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในนามของรัฐบาลบอกยุติสัญญาและระงับการจ่ายเงิน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง