เสน่ห์เครื่องเคาะ

Logo Thai PBS
เสน่ห์เครื่องเคาะ

เครื่องดนตรีเพอร์คัสชั่น หรือเครื่องเคาะ อาจเป็นที่รู้จักกันในฐานะเครื่องให้จังหวะ แต่เมื่อนำมาบรรเลงร่วมกัน กลับให้เสียงดนตรีที่ไพเราะพิเศษออกไป

การสอดประสานอย่างลงตัวระหว่าง มาริมบ้า ระนาดฝรั่งตัวใหญ่ที่บรรเลงทำนองหลักกับ เมโลดี้อ่อนหวานของ ไวบราโฟน ระนาดเหล็กที่ทอดเสียงกังวานยาวออกไปได้เหมือนเสียงระฆังด้วยการเหยียบแป้นเท้า สร้างความไพเราะให้กับบทเพลง Swan ของ Camille Saint-Sean คีตกวีชาวฝรั่งเศสซึ่งเขียนขึ้นสำหรับเครื่องเคาะโดยเฉพาะ

นอกจากต้องอาศัยทักษะความคุ้นเคยในการบรรเลงร่วมกันของผู้เล่นทั้ง 3 คน การจับไม้ตีด้วยเทคนิค Four Mallet หรือการจับ 4 ไม้ ยังต้องอาศัยความชำนาญที่ผ่านการฝึกฝนมานานนับปี ของสมาชิกวง Fanatic Percussion วงเพอร์คัสชั่น อองซองเบิล เครื่องเคาะวงแรกของเมืองไทยที่ก่อตั้งกันมาตั้งแต่ 13 ปีที่แล้ว ไม่เพียงตั้งใจให้ดนตรีชนิดนี้เป็นที่รู้จัก แต่ยังต้องการแสดงความสามารถของเครื่องเคาะที่เป็นได้มากกว่าเครื่องให้จังหวะ

ความดุดัน และเสียงที่เร้าอารมณ์ของเครื่องเคาะจังหวะ เคยถูกมองจากนักแต่งเพลงและคนยุคก่อนว่า เป็นเสียงของปีศาจ เพราะมักใช้เป็นเครื่องให้สัญญาณในการรบของกองทัพในอดีต ทำให้บทบาทของเครื่องเคาะในดนตรีตะวันตกมีไม่มากนัก และเพิ่งมีพัฒนาการอย่างรวดเร็วในช่วง 100 ปีมานี้ ผ่านผลงานเพลงในยุคโรแมนติก และดนตรีร่วมสมัย ต่างจากดนตรีในเอเชียที่เครื่องเคาะมีบทบาทมาตั้งแต่อดีตอย่างระนาดเอก หรือฆ้องวงในวงปี่พาทย์

ความหลงไหลในเสน่ห์แห่งเครื่องเคาะ ทำให้ เผ่าพันธ์ อำนาจธรรม, จุมพล เตชะไกลศรี และ เกษม ทิพยเมธากุล อดีตนักดนตรีวงบางกอกซิมโฟนี่ออเคสตร้า ตัดสินใจรวมตัวออกแสดงเผยแพร่ดนตรีแนวนี้ หวังให้เกิดการพัฒนานักดนตรีเพอร์คัสชั่นรุ่นใหม่

13 ปีนับตั้งแต่วันที่ทั้ง 3 คนตัดสินใจตั้งวงดนตรีที่มีแต่เครื่องเคาะวงแรกในประเทศไทย จนถึงวันนี้มีกลุ่มนักดนตรีเครื่องเคาะรุ่นน้องตามรอยอีกมากมาย และมีพัฒนาการในการแสดงที่หลากหลาย มนต์ดนตรีจากเครื่องเคาะทำให้ทั้ง 3 คนร่วมกันฝึกซ้อมเสมอ และเปิดการแสดงอย่างน้อย 2 ปีครั้ง เพื่อส่งผ่านความสุข และเสียงดนตรี ที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ทุกครั้งยามที่พวกเขาได้บรรเลงร่วมกัน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง