สายส่งรายใหญ่ในวงการสิ่งพิมพ์ประกาศขอเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่ม 1%

Logo Thai PBS
สายส่งรายใหญ่ในวงการสิ่งพิมพ์ประกาศขอเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่ม 1%

การประกาศขอเก็บค่าธรรมเนียมการขนส่งหนึ่งเปอร์เซ็นต์จากปกหนังสือ ของ 2 สายส่งรายใหญ่วงการสิ่งพิมพ์ สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักทั้งในเรื่องการผลักภาระให้ผู้อ่าน และต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้สำนักพิมพ์เล็กที่ผลิตผลงานวรรณกรรมสร้างสรรค์ขาดทุนจนอยู่ไม่ได้ โดยมีดีเดย์ คือ วันที่ 1 สิงหาคม ซึ่งแม้จะมีการเลื่อนข้อเสนอนี้ออกไป แต่ก็ไม่ได้ยืนยันว่าจะไม่มีการขึ้นราคา

"ปีนี้กำไรซีเอ็ดเพิ่มจาก 5,000 ล้านบาท เป็น 6,000 ล้านบาท มีสาขาเพิ่ม 60-70 สาขา มากที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งซีเอ็ดมา มีกำไรเพิ่ม แต่ทำไมต้องทำแบบนี้กับคนในวงการหนังสือ" เป็นคำถามจากคนวงการวรรณกรรมเกิดขึ้นทันที ที่มีข่าวสองสายส่งรายใหญ่ ซีเอ็ดยูเคชั่นและอมรินทร์บุ๊คเซนเตอร์ ขอเก็บเงินค่ากระจายสินค้าเพิ่มขึ้น 1% จากราคาปก เพราะเป็นการผลักภาระต้นทุนการจัดจำหน่ายให้สำนักพิมพ์และผู้อ่าน จนในที่สุดสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย เข้ามาเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย และนำไปสู่ข้อสรุปว่าจะเลื่อนใช้มาตรการนี้ไปจนกว่าจะได้ผลสรุปของคณะ กรรมการร่วมกัน

นายทนง โชติสรยุทธ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทซีเอ็ดยูเคชั่นจำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความจำเป็นในการขอเก็บค่าธรรมเนียมการขนส่งที่เพิ่มขึ้นว่า เป็นความจำเป็น และดีกว่าปล่อยให้หนังสือหายไปเลย หากเปรียบเทียบดูจริงๆแล้ว มองว่าราคาหนังสือในประเทศไทยไม่ได้แพงเลย

ขณะที่นายวชิระ บัวสนธ์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์สามัญชน เห็นว่าจะส่งผลต่อความหลากหลายของหนังสือ สำนักพิมพ์เล็กจะอยู่ไม่ได้ หลายรายคงต้องปิดตัว และคงเหลือไม่มาก เพราะไม่มีพื้นที่ที่จะขายหนังสือ และความหลากหลายของหนังสือก็จะลดลง

ปัจจุบัน ระบบการฝากขายหนังสือของสองสายส่งรายใหญ่ ใช้วิธีแบ่งรายได้จากยอดขายตามจริงของหนังสือราวร้อยละ 40 แต่หลังจากรัฐบาลประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท ทำให้ค่าใช้จ่ายในการขนส่งเพิ่มขึ้นราว 5 ล้านบาท ซีเอ็ดและอมรินทร์ฯจึงทำจดหมายแจ้งขอความร่วมมือเก็บค่าธรรมเนียมการกระจายสินค้าเพิ่มขึ้น 1% จากสำนักพิมพ์ที่ฝากขาย ซึ่งสร้างความไม่พอใจต่อมาตรการที่เกิดขึ้นว่าจะส่งผลกระทบต่อสำนักพิมพ์ขนาด กลางและเล็ก โดยปกติหนังสือส่วนใหญ่มียอดพิมพ์ขั้นต่ำที่ 3,000 - 5000 เล่ม เท่ากับว่าหากหนังสือราคา 200 บาท จะมีต้นทุนในการฝากขายเพิ่มขึ้นถึง 6,000-10,000 บาททันทีที่ถูกวางในร้านหนังสือไม่ว่าจะขายได้หรือไม่ก็ตาม

ด้านนายจรัญ หอมเทียนทอง ผู้จัดการสนพ.แสงดาว เห็นว่าต้นทุนที่เกิดขึ้นจะเป็นการผลักภาระให้คนอ่าน ทุกคนบอกว่าหนังสือราคาแพง อีกหน่อยจะต้องแพงมากขึ้น เพราะคนทำถูกบังคับไปโดยปริยาย

ขณะที่นายวรพันธ์ โลกิตสถาพร นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือ กล่าวว่า การขึ้นราคาไม่ใช่ทางออก ต้นทุนการขนส่งอาจแพงขึ้น แต่ก็ยังสามารถลดต้นทุนส่วนอื่นได้ การอยู่รอดของอุตสาหกรรมหนังสือในระยะยาว เป็นการอยู่รอดของสังคมการอ่านหนังสือในระยะยาวเช่นกัน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาวงการวรรณกรรมประสบภาวะซบเซาจากการที่มียอดจำหน่ายลดลง ผลวิเคราะห์ของสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือรายงานว่า กลุ่มสำนักพิมพ์ขนาดเล็กมีอัตราการเติบโตติดลบมาไม่ต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งมาตรการเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวถูกวิจารณ์ว่าเป็นการซ้ำเติมคนในวงการด้วยกัน

แม้ข้อสรุปของวงเสวนา "โครงสร้างอุตสาหกรรมหนังสือ จากวันนี้สู่อนาคต" จะจบลงด้วยการยินยอมเลื่อนการเก็บค่าธรรมเนียมออกไปเพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน ใหม่ภายในหนึ่งเดือน หากต้นทุนทางการอ่านที่เพิ่มขึ้นจริง ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้อ่านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในอนาคต


ข่าวที่เกี่ยวข้อง