“พล.อ.ยุทธศักดิ์” พร้อม รมว.กห.,ผบ.ทบ.,รองผบ.ตร. ลงใต้ดูสถานการณ์

ภูมิภาค
10 ส.ค. 55
04:44
8
Logo Thai PBS
“พล.อ.ยุทธศักดิ์” พร้อม รมว.กห.,ผบ.ทบ.,รองผบ.ตร. ลงใต้ดูสถานการณ์

“พล.อ.ยุทธศักดิ์” ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้พร้อมผู้เกี่ยวข้องลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ ขณะที่ผบ.ทบ. ย้ำการที่รัฐบาลมีหน่วยงานแก้ปัญหาใต้นับเป็นนิมิตรหมายที่ดี เพื่อขับเคลื่อนการทำงานพัฒนาและความมั่นคงให้สอดคล้องกัน

พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้  หรือ กปต.พร้อมพล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะรองประธาน กปต., พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก และพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจะร่วมประชุมและรับทราบแนวโน้มสถานการณ์ที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า พร้อมทั้งจะเดินทางไปที่อำเภอเมือง จังหวัดยะลา พบผู้นำทางศาสนา และผู้นำท้องถิ่น เพื่อมอบสิ่งบริโภคในเทศกาลถือศีลอด 

ด้านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวว่า การลงพื้นที่ในวันนี้ (10 ส.ค.) เพื่อย้ำถึงแนวทางการแก้ปัญหาภาคใต้ที่มีการปรับให้เหมาะสม โดยเน้นให้การทำงานด้านการพัฒนาของ ศอ.บต.และด้านความมั่นคงของกอ.รมน.สอดคล้องและเสริมการทำงานไปควบคู่กัน พร้อมยืนยันว่า ไม่ใช่การทำงานล้มเหลวหรือไม่ได้ผล แต่ที่ผ่านมาอาจมีปัญหาบางโครงการที่ลงไปในพื้นที่ไม่ตรงกับความต้องการของประชาชนร้อยเปอร์เซ็นต์ และเพื่อให้การทำงานต่อเนื่องสอดคล้องสถานการณ์มากขึ้น พร้อมระบุว่า การที่รัฐบาลตั้งหน่วยงานดูแลปัญหาภาคใต้ โดยอำนาจสั่งการทั้งหมดอยู่ที่นายกรัฐมนตรี เพื่อความเป็นเอกภาพ และนับเป็นนิมิตรหมายที่ดี โดยย้ำว่า ไม่ได้เกิดความซ้ำซ้อนในการทำงาน ซึ่งภารกิจเร่งด่วนมีการกำหนดไว้แล้ว รวมทั้งการดูแลชีวิตและทรัพย์สินประชาชน ซึ่งนายกรัฐมนตรี ก็ได้สั่งการให้เพิ่มมาตรการทำงานด้านต่างๆ รวมไปถึงการดูแลพื้นที่เซฟตี้โซน ที่ต้องมีการติดตั้งกล้อง CCTV ให้ครอบคลุม และสร้างเครือข่ายเฝ้าระวัง  ส่วนที่ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีออกมาระบุมีผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้ 40 คน ขอเข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่  น่าจะสอดคล้องกับมาตรา 21 ของพรบ.ความมั่นคง ที่เปิดโอกาสให้เข้ารายงานตัวได้ แต่หากกรณีสอบสวนว่ามีความผิดทางอาญา ต้องดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม พร้อมย้ำว่า ไม่ควรนำแนวทางของมาตรา 21 ตามพรบ.ความมั่นคง ไปเปรียบเทียบกับคำสั่ง 66/23 เพราะคำสั่งดังกล่าวใช้กับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ที่กระทำต่อเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ไม่ได้ทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์ ต่างจากสถานการณ์ในภาคใต้ที่ผู้ก่อความไม่สงบทำร้ายทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชน จึงมีเรื่องของผิดทางอาญาเข้ามาเกี่ยวข้อง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง