จนท.เรือนจำตาก เร่งย้ายผู้ต้องขังขึ้นชั้น 2 หนีน้ำท่วม

ภูมิภาค
13 ส.ค. 55
12:27
9
Logo Thai PBS
จนท.เรือนจำตาก เร่งย้ายผู้ต้องขังขึ้นชั้น 2 หนีน้ำท่วม

เจ้าหน้าที่เรือนจำจังหวัดตาก ต้องย้ายผู้ต้องขังออกจากพื้นที่ หลังได้รับผลกระทบถูกน้ำท่วมมานาน 3 วันแล้ว ขณะที่นายกเทศมนตรีเทศบาลนครนครสวรรค์ ยืนยัน โครงการก่อสร้างพนังกั้นน้ำคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 90 จะสามารถรองรับน้ำเหนือที่กำลังจะมาถึง โดยจะป้องกันพื้นที่เขตเศรษฐกิจได้อย่างแน่นอน

เจ้าหน้าที่เรือนจำใน อ.แม่สอด จ.ตาก เร่งสูบน้ำออกจากรอบบริเวณเรือนจำ หลังมีฝนตกหนักทำให้เกิดน้ำท่วมมานานกว่า 3 วันแล้ว นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ต้องย้ายผู้ต้องขังบริเวณชั้นล่าง ไปไว้ชั้น 2 ทำให้ขณะนี้ทั้งเจ้าหน้าที่และผู้ต้องขังได้รับความเดือดร้อน โดยนายปรีชา ใจเพชร นายอำเภอแม่สอด สั่งการให้ใช้รถแบ็คโฮ ขุดเจาะถนน เสริมท่อน้ำให้ระบายน้ำได้มากขึ้น

ส่วนที่ จ.นครสวรรค์ ผู้รับเหมายังเร่งก่อสร้างพนังกั้นน้ำบริเวณสะพานนิมมานนรดี ริมแม่น้ำเจ้าพระยา หน้าตลาดสดเทศบาลนครนครสวรรค์ โดยนายจิตตเกษม นิโรจน์ธนรัตน์ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครนครสวรรค์ บอกว่า ได้สั่งกำชับให้เร่งก่อสร้าง เพราะขณะนี้เกิดฝนตกในหลายพื้นที่ ซึ่งโครงการมีคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 90 จึงเชื่อมั่นว่าจะสามารถป้องกันน้ำท่วมในเขตเศรษฐกิจได้

ขณะที่ ชาวบ้านใน ต.เถินบุรี อ.เถิน จ.ลำปาง ร้องขอให้หน่วยงานเร่งซ่อมแซมสะพานคอนกรีตยาวเกือบ 130 ม. ที่ชาวบ้านใช้ข้ามแม่น้ำวัง ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างหมู่ 8 บ้านสอบแควตะวันออกไปหมู่ 5 บ้านสองแควปินหวาน หลังได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมครั้งที่แล้วและยังไม่มีการซ่อมแซม

ส่วนที่ จ.อุบลราชธานี ผู้รับเหมาเร่งขุดลอกแก้มลิงลำห้วยแจระแม ต.แจระแม อ.เมือง และเร่งก่อสร้างคันดินเพิ่มสูงขึ้นอีก 4 เมตร ซึ่งแก้มลิงแห่งนี้จะเป็นจุดรองรับน้ำเหนือ และจะช่วยลดผลกระทบไม่ให้น้ำไหลเข้าท่วมชุมชนริมฝั่งลำน้ำมูลน้อย ในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี และเทศเมืองวารินชำราบ

และที่ จ.นครราชสีมา เจ้าหน้าที่เร่งขุดลอกคลองส่งน้ำและบำรุงรักษาลำพระเพลิง ครอบคลุมเทศบาล ต.ตะขบ และเทศบาล ต.นกออก อ.โชคชัย พร้อมปรับปรุงซ่อมแซมประตูเปิด-ปิดคลองส่งน้ำตามจุดต่างๆ เพื่อเสริมความแข็งแรง หลังจากในช่วงฤดูน้ำหลากที่ผ่านมาบานประตูน้ำหลายจุดเกิดชำรุด

ขณะที่ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง ที่ก่อนหน้านี้ได้ทยอยพร่องน้ำ ทำให้ปัจจุบันมีน้ำจุอ่างเพียง 20 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 19 ของความจุอ่าง เช่นเดียวกับปริมาณน้ำภายในอ่างเก็บน้ำทั้ง 4 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ่างเก็บน้ำลำปลายมาศ อ่างเก็บน้ำลำแชะ และอ่างเก็บน้ำลำมูลบน ปริมาณกักเก็บอยู่ที่ร้อยละ 36 ทำให้สำนักชลประทานที่ 8 นครราชสีมา มั่นใจว่าอ่างเก็บน้ำทั้ง 5 แห่งจะสามารถรองรับน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากนี้เพียงพอ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง