เครือข่ายเด็กและเยาวชน เตรียมยืนหนังสือเพื่อให้รอ ร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อฯ

20 ส.ค. 55
18:46
10
Logo Thai PBS
เครือข่ายเด็กและเยาวชน เตรียมยืนหนังสือเพื่อให้รอ ร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อฯ

ภาคประชาชน เรียกร้องสิทธิ ขอให้รัฐบาลและสภา ยกระดับการมีส่วนร่วมในกระบวนการนิติบัญญัติ ให้โอกาสร่างกฎหมายเพื่อประโยชน์ ของเด็กและเยาวชนได้เข้าประกอบการพิจารณา

ภายหลังจากที่ เครือข่ายภาคประชาชน ซึ่งมีเครือข่ายเด็กเยาวชน และครอบครัวเป็นตัวหลัก ได้ยื่นรายชื่อกว่า 12,500 รายชื่อ เพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ฉบับประชาชน เข้าไปประกบกับฉบับของกระทรวงวัฒนธรรม เมื่อวันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม 2555 โดยมี นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 เป็นตัวแทนประธานสภาผู้แทนราษฎร รับมอบรายชื่อ ณ ห้องโถงรัฐสภา และได้กล่าวว่าถือเป็นการดีที่ประชาชนมีส่วนร่วม ทำให้การออกกฏหมายของประเทศไทยมีความสมบูรณ์มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่า กำหนดการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันพุธที่ 22 สิงหาคม 2555 ซึ่งหนึ่งในเรื่องด่วนที่ยกมาพิจารณากระทันหัน ก็คือ ร่างพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. .... ที่คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ โดยไม่รอฉบับที่ภาคประชาชนเสนอ

ภาคประชาชนอดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมต้องเร่งรัด นำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เข้าเป็นเรื่องเร่งด่วน โดยไม่รอฉบับที่ภาคประชาชนเสนอ หรือ อาจเป็นเพราะนี่คือกฎหมายการเงิน ที่รัฐบาลไม่ต้องไปจัดสรรมาเข้ากองทุน นี้ แต่จะมีเงินรายได้จาก คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. รออยู่แล้ว โดยจัดสรรให้ ตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 มาตรา 52 (5) ทั้งๆ ที่ข้อเสนอของภาคประชาชนจะทำให้กฏหมายมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เป็นประโยชน์ต่อเด็ก และเยาวชน เพราะเสนอให้มีการนิยาม”สื่อ” ในมุมที่กว้าง ส่งเสริมนวัตกรรมและสื่อดีเพื่อการเรียนรู้ มุ่งเน้นเพื่อเด็กเยาวชน ครอบครัว และเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกระดับ

ภารกิจของกองทุน มุ่งเน้นเชิงบวกในการพัฒนาและเผยแพร่สื่อสร้างสรรค์ที่มีเนื้อหาคุณค่าที่หลากหลาย ส่งเสริมพัฒนาศักยภาพเครือข่ายผู้ผลิต ตลอดจนสร้างและบูรณาการกองทุนทางสังคม ทั้งด้านความคิด จินตนาการและทรัพยากรต่างๆ มาสนับสนุนการใช้สื่อเพื่อสร้างการเรียนรู้อย่างยั่งยืนเพื่อเด็กเยาวชน ด้านโครงสร้างกองทุน เสนอให้มีกรรมการครึ่งหนึ่งมาจากประชาชน ให้ ทุกกลุ่มเป้าหมาย มีสิทธ์เข้าถึงประโยชน์ของการใช้สื่ออย่างเท่าเทียม มี สภาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ รวมถึงสมัชชาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่ประชาชนมีส่วนร่วมทุกระดับ

ดังนั้นเครือข่ายจึงเรียกร้อง ให้ชะลอการหยิบร่างของรัฐบาลขึ้นพิจารณา และให้เร่งรัดนำร่างของภาคประชาชนเข้ามาประกบ เพื่อให้กฏหมายมีความสมบูรณ์ และเพื่อให้ประชาชนมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ

ตามที่ระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 24 ปีที่ 2 ครั้งที่ 6 (สมัยสามัญทั่วไป) วันพุธที่ 22 สิงหาคม 2555 จะมีการพิจาณาเรื่องด่วนเรื่องที่ 23  ร่างพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. .... โดยมีคณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอนั้น

ขณะเดียวกันภาคประชาชนก็ได้มีการยื่นร่างพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ที่เสนอจากภาคประชาชน เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2555 ที่ผ่านมา โดยมีนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 รับการยื่นเรื่องจาก นายศุภชัย ไตรไทยธีระ ตัวแทนเยาวชนจากศูนย์ประสานงานเครือข่ายภาคอีสาน และเครือข่ายภาคประชาชน ที่รวบรวมรายชื่อประชาชนกว่า 10,000 รายชื่อ เพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ฉบับประชาชน โดยมีสาระสำคัญที่ต้องการเพิ่มเติมเนื้อหากฎหมายประกอบกับร่างฉบับที่กระทรวงวัฒนธรรมดำเนินการ เนื่องจากสาระสำคัญยังไม่ครอบคลุมถึงการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ขาดความเท่าเทียมในการเข้าถึงกองทุน ขณะที่คณะกรรมการผู้ดูแลกฎหมายจำนวน 8 คน ไม่ระบุถึงคุณสมบัติที่ให้ภาคประชาชนเข้าร่วมเป็นกรรมการ ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าว กลุ่มสถาบันสื่อเด็กและเยาวชนและเครือข่าย ได้ร่วมต่อสู้เพื่อเสนอให้เกิดเป็นรูปธรรมแล้วกว่า 10 ปี

ทั้งนี้ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า จะดำเนินการตามขั้นตอนการตรวจสอบรายชื่ออย่างรวดเร็ว คาดใช้เวลาประมาณ2 สัปดาห์หลังจากนี้

อย่างไรก็ตาม ทางฝากฝั่งของภาคประชาชนตั้งข้อสังเกตว่า หากมีการยื่นเสนอกฎหมายในลักษณะเดียวกันเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาทั้งจากฝ่ายรัฐบาลและภาคประชาชน  โดยหลักการแล้วต้องมีการพิจารณาพร้อมกัน แต่ทางภาครัฐกลับมีการเร่งดำเนินการนำกฎหมายเสนอเข้าสู่รัฐสภาก่อนโดยไม่มีการรอกฎหมายจากภาคประชาชน ทำให้เกิดการพูดคุยแวดวงของผู้ผลักดันกฎหมายนี้อย่างกว้างขวาง ซึ่งคาดว่าจะมีการออกมาเคลื่อนไหวในเร็วๆนี้

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง