"ทหาร-นักวิชาการ" เชื่อปักธงมาเลย์ก่อเหตุ 102 จุดใน 4 จ.ใต้ หวังสร้างขัดแย้ง "ไทย-มาเลย์"

31 ส.ค. 55
14:02
138
Logo Thai PBS
"ทหาร-นักวิชาการ" เชื่อปักธงมาเลย์ก่อเหตุ 102 จุดใน 4 จ.ใต้ หวังสร้างขัดแย้ง "ไทย-มาเลย์"

หน่วยงานด้านความมั่นคง เชื่อว่า การลอบก่อเหตุความไม่สงบกว่า 100 จุด ใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีการนำธงชาติของประเทศมาเลเซีย เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เป็นความต้องการของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบให้เกิดความบาดหมางระหว่างประเทศไทยกับมาเลเซีย ขณะที่นักวิชาการด้านอิสลามศึกษาเห็นว่า กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบอาจเริ่มหวาดกลัวหากประเทศไทยเปิดประตูสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งจะส่งผลกระทบในการควบคุมคนและพื้นที่ก่อเหตุได้ยากยิ่งขึ้น และหากทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างทั้ง 2 ประเทศได้สำเร็จจะส่งผลดีต่อกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่จะใช้ประเทศมาเลเซียเป็นที่หลบหนีและพักพิงได้

 

<"">
 
<"">

กล่องต้องสงสัยที่ถูกยิงทำลายทิ้งบนสะพานลอยทางข้ามโรงเรียนจงรักสัตย์วิทยา อำเภอเมืองปัตตานี ที่มีเพียงสิ่งปฎิกูล และทรายเป็นหนึ่งใน 102 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมกันในสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ช่วงเช้าวันนี้ ( 31 ส.ค.) โดยที่ยะลาเกิดเหตุ 34 จุด นราธิวาส 44 จุด ปัตตานี 12 จุด และสงขลา 12 จุด โดยรูปแบบการก่อเหตุ มีทั้งการวางกล่องต้องสงสัย และ การวางระเบิดจริง โดยเฉพาะใน 5 อำเภอของจังหวัดนราธิวาส ที่มีทหารบาดเจ็บ 6 นาย

โดยรูปแบบการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่ง ในครั้งนี้ คือ การนำธงชาติของมาเลเซียมาปักริมถนนในทุกจุดของการก่อเหตุ ซึ่งหน่วยงานด้านความมั่นคงวิเคราะห์ว่า แนวร่วมต้องการใช้เป็นสัญลักษณ์และเลือกก่อเหตุ ตรงกับวันรำลึก "เมอร์เดการ์" หรือวันประกาศวันชาติของมาเลเซีย และ ยังตรงกับวันก่อตั้งขบวนการ "เบอร์ซาตู" เพื่อแสดงถึงการต่อต้านรัฐไทย ซึ่งไทยและมาเลเซียไม่ควรหลงกล แต่ต้องใช้โอกาสนี้ในการสร้างความสัมพันธ์ให้มากขึ้น

ตรงกับนักวิชาการด้านอิสลามศึกษา เห็นว่า เป็นความจงใจของผู้ก่อเหตุที่ต้องการสร้างความบาดหมาดระหว่างไทยและมาเลเซีย เพราะเมื่อไทยกำลังก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนย่อมส่งผลกระทบต่อกลุ่มแนวร่วม ที่อาจเกรงว่า จะถูกกลืนกินอุดมการณ์ หรือชาติพันธุ์ หากพื้นที่ทางวัฒนธรรมกว้างขึ้น และ การควบคุมคน หรือ พื้นที่ก่อเหตุย่อมยากตามไปด้วย และ หากทำให้เกิดรอยแตกร้าวระหว่างประเทศได้สำเร็จ กลุ่มแนวร่วมจะได้ประโยชน์จากประเทศเพื่อนบ้านในลักษณะใช้เป็นที่หลบหนี หรือ พักพิง

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ยังมองข้ามไม่ได้สำหรับผู้ที่อาจจะอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ อาจเป็นกลุ่มที่ต้องการดิสเครดิตรัฐบาลในการแก้ปัญหาภาคใต้ หรือ เสียผลประโยชน์ในการเปิดประเทศของไทย

 

<"">
 
<"">

อย่างไรก็ตาม วันที่ 7 กันยายนนี้นายมหาธีร์ โมฮำหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย จะเดินทางมาร่วมปาถกฎาพิเศษในหัวข้อ วิสัยทัศน์ผู้นำว่าด้วยการเมือง ความขัดแย้ง และ สันติภาพในประเทศอาเซียน ที่หอประชุมนานาชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยมุ่งเน้นไปที่การแสวงหาความร่วมมือ ในการแก้ปัญหาความมั่นคง

ส่วนการติดตามผู้ก่อเหตุป่วนเมืองครั้งนี้ ล่าสุดเจ้าหน้าที่เตรียมนำภาพจากกล้องวงจรปิดตามที่ต่าง ๆ มาตรวจสอบ รวมถึงเพิ่มการดูแลความปลอดภัยให้มากขึ้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง