พิธีกรรมจวลมะม๊วด การรักษาความเจ็บป่วยด้วยเสียงดนตรี

7 พ.ย. 55
12:46
254
Logo Thai PBS
พิธีกรรมจวลมะม๊วด การรักษาความเจ็บป่วยด้วยเสียงดนตรี

พิธีกรรมจวลมะม๊วด เป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาแต่บรรพบุรุษของชาวเขมรแถบอีสานตอนล่าง ตามแนวเทือกเขาพนมดงรัก โดยมีความเชื่อว่า วิญญาณของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ภูตผีปีศาจ และดวงวิญญาณของบรรพบุรุษมีอยู่จริง

 ในอดีตทุกชุมชนหมู่บ้านชาวเขมรสุรินทร์ ต่างร่วมกันจัดงาน “พิธีกรรมจวลมะม๊วด” ระหว่างหลังฤดูการเก็บเกี่ยว ไปถึงก่อนฤดูการผลิตใหญ่ “ทำนา” เพื่อเป็นศิริมงคล กระทั่งเป็นประเพณีประจำปีของชุมชนสืบต่อๆ กันมาถึงปัจจุบัน

โดยหลักๆ แล้วชาวเขมรสุรินทร์ มักจะนำพิธีกรรมนี้มาใช้ เพื่อการรักษา การเจ็บไข้ได้ป่วย และเนื่องจากในพิธีกรรมนี้ มีการใช้ศาสตร์ดนตรี กันตรึม วงปี่พาทย์บรรเลงเพลงประกอบ เพื่ออัญเชิญจิตวิญญาณ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้มาประทับที่ร่างทรงของแม่มด ปัจจุบันจึงนิยมเรียกความหมายพิธีการนี้ว่า “การรักษาด้วยเสียงดนตรี”

นายสมชัย คำเพราะ ผู้รับผิดชอบโครงการนาฏลีลาเยียวยาสุขภาวะ ความเหมือนในความต่างอย่างมีคุณค่า ในความจริง ความดี ความงาม และความสุข ของนาฏกรรมในพิธีกรรมการรักษาสุขภาวะ เพื่อการเปลี่ยนแปลงตนเองและสังคม ของกลุ่มชาติพันธุ์ 6 เครือข่าย ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายใต้การสนับสนุนโดย แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. บอกว่า จากความเชื่อดังกล่าวตนและคนในโครงการได้ลงพื้นที่ อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ เพื่อร่วมศึกษาพิธีกรรมจวลมะม๊วด ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทแขมร์ (เขมรถิ่นไทย) เพื่อเรียนรู้ในด้านประวัติศาสตร์ชุมชน ปฏิทินชุมชน แผนที่ชุมชน และพิธีกรรมจวลมะม๊วด เป็นการนับถือเทพ บูชาเทพ ซึ่งทำให้เกิดการสืบสานการเรียนรู้จากรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่อย่างไรก็ตามความเชื่อในพิธีกรรมนี้

แม้จะมีการสืบทอดมาถึงปัจจุบัน หากแต่ความนิยมและศรัทธาเริ่มเสื่อมคลายลงไปอย่างรวดเร็ว เพราะในปัจจุบันชาวสุรินทร์เชื้อสายเขมรที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปเท่านั้นที่ยังคงเชื่อศรัทธา จากผลการรักษาอันปรากฏที่หายจากการเจ็บป่วย ด้วยวิธีการนี้แม้จะไม่แม่นยำ 100 % แต่ก็สามารถแก้ปัญหาอาการเจ็บไข้บางชนิดที่การแพทย์สมัยใหม่ไม่สามารถเยียวยารักษาได้เช่นกัน

อุปกรณ์ในการแสดงจะประกอบด้วยเครื่องเซ่นสังเวย และเครื่องบวงสรวง ซึ่งทำจากก้านกล้วยจำนวน 2 ชุด ชุดที่ 1 มี 3 ขาซึ่งเป็นเสมือนตัวแทนของดวงวิญญาณที่เป็นเพศชาย ชุดที่ 2 มี 4 ขา จะเป็นตัวแทนของดวงวิญญาณที่เป็นเพศหญิง พร้อมทั้งมีดอกไม้ธูปเทียน อาวุธ (มีดดาบ) 1 เล่ม ข้าวสาร 1 ขัน นางรำแล้วแต่สถานการณ์ แม่หมอจะอัญเชิญดวงวิญญาณประทับร่าง ในขณะเดียวกันนักดนตรีก็จะบรรเลงเพลงในจังหวะเร่งเร้า และนางรำก็จะร่ายรำบูชาครู ตลอดถึงเทวดาฟ้าดินสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ให้ช่วยดลบันดาลให้ผู้ป่วยหายจากอาการป่วยไข้ ส่วนอาวุธซึ่งเป็นมีดดาบที่ใช้ในพิธี ถือว่าเป็นอาวุธที่ใช้เพื่อการข่มดวงวิญญาณร้ายที่สิงสู่อยู่ในร่างของผู้ป่วย

ปัจจุบันพิธีกรรมเหล่านี้ยังมีอยู่ในบางชุมชน ซึ่งหากไม่มีผู้ป่วยไข้ในชุมชน ก็จะจัดพิธีกรรมนี้ขึ้นเพื่อเป็นการบูชาครู ตลอดถึงเทวดาฟ้าดิน สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือดวงวิญาณบรรพบุรุษ เพื่อความเป็นศิริมงคลแก่ผู้คนในครอบครัว ในชุมชน โดยพิธีกรรมจะเริ่มขึ้นเมื่อดนตรีเริ่มบรรเลง ผู้ที่อยู่ในพิธีจะมีอาการเคลิบเคลิ้ม ก่อนที่ลุกขึ้นฟ้อนรำกันอย่างสนุกสนาน

แต่ละครั้งผู้ร่วมพิธี จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันออกมาฟ้อนรำ กินเวลายาวนานถึงกับข้ามวันข้ามคืน โดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย และเชื่อกันว่าผู้ที่ร่วมร่ายรำในพิธีกรรมจวลมะม๊วด นี้จะมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง มีจิตใจที่เข้มแข็ง มีอายุยืนยาว ทั้งนี้เชื่อกันว่าเป็นเพราะได้ออกกำลังกาย ซึ่งเป็นการเสริมสร้างทั้งสุขภาพกายและกำลังใจนั่นเอง

พิธีกรรมจวลมะม๊วดที่เกิดขึ้นในกิจกรรมของโครงการฯ นี้นอกจากจะมีแนวคิดที่จะอนุรักษ์ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษเอาไว้แล้ว ยังมีการสืบสานเพื่อให้ลูกหลาน หรือคนรุ่นหลังภาคภูมิใจ ในภูมิปัญญาเก่าแก่นี้สืบไป เพราะเชื่อว่า พิธีกรรมจวลมะม๊วด ให้อะไรมากกว่าที่คิด... ไม่เชื่อ อย่าลบหลู่


ข่าวที่เกี่ยวข้อง