ผู้สมัคร ส.ส.เขตทั่วประเทศ เร่งลงพื้นที่หาเสียง

ภูมิภาค
29 พ.ค. 54
07:48
9
Logo Thai PBS
ผู้สมัคร ส.ส.เขตทั่วประเทศ เร่งลงพื้นที่หาเสียง

ผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตหลายพรรคในจังหวัดต่าง ๆ เน้นการลงพื้นที่พบปะประชาชนตามชุมชนต่าง ๆ ในการหาเสียง ขณะกกต.ในบางจังหวัดจัดกิจกรรมให้ผู้สมัครร่วมในข้อตกลงเลือกตั้งแบบสมานฉันท์เพื่อลดปัญหาการร้องเรียน

คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเชียงใหม่ และ จังหวัดพิษณุโลก ประชุมชี้แจงกับผู้สมัคร ส.ส.เกี่ยวกับข้อปฏิบัติในการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต โดยมุ่งเน้นให้เป็นการเลือกตั้งเชิงสมานฉันท์ และ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อกฎหมาย เพื่อลดปัญหาการร้องเรียน แต่ผู้สมัครบางคนไม่ยอมร่วมลงนามในข้อตกลง โดยให้เหตุผลว่า ที่ผ่านมามีการทำลายป้ายหาเสียงของเขาหลายป้าย จึงคิดว่า ยังไม่มีความสมานฉันท์จริง ขณะที่เรื่องร้องเรียนแจ้งไปยัง กกต.แต่ละจังหวัด ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการทำลายป้ายหาเสียง

ผู้สมัครส.ส.เขต 3 จังหวัดน่าน พรรคภูมิใจไทยลงพื้นที่พบปะประชาชนที่บ้านผาหมี หมู่ 10 ตำบลนาไร่หลวง อำเภอสองแคว ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง เขตเลือกตั้งนี้มีผู้สิทธิ์จำนวนมากที่เป็นกลุ่มชนเผ่า เช่น ม้ง เมี้ยน ลัวะ และ ผีตองเหลือง

 

<"">
 
<"">

ผู้สมัครจากพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดินเขต 2 และผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย เขต 1 จังหวัดนครราชสีมา ลงพื้นที่หาเสียงในเขตอำเภอเมือง โดยผู้สมัครส่วนใหญ่ เน้นการลงพื้นที่แบบเคาะประตูบ้าน รวมทั้งจัดเวทีปราศรัยย่อย เพื่อประชาสัมพันธ์นโยบายพรรคในชุมชนต่าง ๆ เช่นเดียวกับผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ เขต 4 จังหวัดมหาสารคาม และ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย เขต 6 จังหวัดบุรีรัมย์ได้ลงพื้นที่หาเสียงตามชุมชนต่างๆ เช่นกัน

ส่วนจังหวัดสงขลาผู้สมัคร ส.ส. เขต 1 จากพรรคเพื่อไทย และพรรคภูมิใจไทย นอกจากจะลงพื้นที่หาเสียงตามชุมชนต่าง ๆ แล้ว การแข่งขันที่อาจจะเกิดความรุนแรงในหลายพื้นที่ ทำให้ผู้สมัคร ส.ส. และ ผู้สนับสนุนในบางจังหวัดภาคใต้เพิ่มความระมัดระวังโดยวางมาตรการป้องกันตัวเองด้วยการเดินทางไปหาเสียงกันเป็นกลุ่มไม่กลับดึก และ ประสานกับตำรวจคอยดูแลอย่างใกล้ชิด

ส่วนที่กรุงเทพมหานครนายกรณ์ จาติกวณิช แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ลงพื้นที่หาเสียงช่วยผู้สมัครเขตหลักสี่ ย่านหมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ 1 โดยใช้รูปแบบหาเสียงด้วยการเดินตลาดเช้า รับฟังปัญหาจากประชาชน โปัญหาส่วนใหญ่ที่ประชาชนสะท้อนผ่านมายังพรรคประชาธิปัตย์ ยังคงเป็นปัญหาปากท้อง และราคาสินค้าแพง

 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง