ชี้หน้าผาการคลัง สหรัฐฯ กระทบส่งออกไทยเพียง 1 %

เศรษฐกิจ
22 ธ.ค. 55
09:02
21
Logo Thai PBS
ชี้หน้าผาการคลัง สหรัฐฯ กระทบส่งออกไทยเพียง 1 %

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ประเมิน ผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมของ Fiscal Cliff ต่อส่งออกไทยไม่น่ากลัวอย่างที่คิด คาดฉุดส่งออกไทยร่วงลงราว 1% เท่านั้น

 นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟดเปิดเผยว่า นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในปัจจุบันยังคงไม่เพียงพอที่จะลดทอนผลกระทบของหน้าผาการคลัง (Fiscal cliff)ของสหรัฐอเมริกาลงได้หมด กลับยิ่งทำให้ประเด็นนี้ยิ่งได้รับความสนใจมากขึ้นเป็นทวีคูณ หลังเข้าใกล้จุดเส้นตายมากขึ้นทุกขณะ

จากการที่ผู้นำสองพรรคใหญ่สภาคองเกรสยังไม่สามารถเจรจาต่อรองหาข้อยุติที่ทั้งสองฝ่ายพึงพอใจได้ ล่าสุดประธานาธิบดีโอบามายอมผ่อนปรนท่าทีลง ด้วยการลดเป้าหมายรายได้จากการจัดเก็บภาษีเหลือ 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ในระยะ 10 ปี ข้างหน้า (จากเป้าเดิมที่ 1.6 ล้านล้านดอลลาร์ฯ) และหั่นงบประมาณใช้จ่ายลงอีกเพื่อเป็นการชดเชยรายรับจากภาษีที่ลดลง

อย่างไรก็ดี แผนดังกล่าวนับว่ายังสูงกว่าข้อเสนอแผนภาษีของพรรครีพับลิกันอยู่ราว 2 แสนล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งพรรครีพับลิกันยังพุ่งเป้าที่ไปการลดค่าใช้จ่ายลงเป็นหลัก และมองว่าข้อเสนอของนายโอบามายังหั่นค่าใช้จ่ายลงไม่เพียงพอ หากโชคร้าย ผู้นำสหรัฐฯ ไม่สามารถตกลงกันจนปล่อยให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ต้องตกหน้าผาจริงดังที่หวาดกลัว จะส่งผลให้ความต้องการนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ จากประเทศคู่ค้าลดลง ซึ่งส่งออกไทยไปยังสหรัฐฯ คาดว่าจะลดลงร้อยละ 2 หรือคิดเป็นร้อยละ 0.2 ของการส่งออกรวม เนื่องจากสหรัฐฯ มีสัดส่วนเฉลี่ยร้อยละ 10 ของตลาดส่งออกไทย

อย่างไรก็ดี หากวิเคราะห์ให้รอบด้านมากขึ้น จำเป็นต้องคำนึงถึง “ผลกระทบทางอ้อม” ประกอบกันด้วย นั่นคือจากภาวะส่งออกที่ชะลอตัวลงจะส่งผลเชื่อมโยงมายังกิจกรรมเศรษฐกิจภายในประเทศคู่ค้าเหล่านั้น อาทิ การผลิตและการจ้างงาน ให้แผ่วลงตามไปด้วย ดังนั้น หากเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ ซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของไทยด้วยเช่นกันชะลอตัวลง จะทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าส่งออกไทย (อาจเป็นได้ทั้งนำเข้าสินค้าสำเร็จรูปเพื่อนำมาใช้อุปโภคบริโภคในประเทศ และ/หรือ สินค้าวัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูปที่ใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อส่งออก) ของประเทศคู่ค้ากลุ่มนี้ลดลงตามไปด้วย หรือคิดเป็นผลกระทบเพิ่มเติมอีกร้อยละ 0.8 ของการส่งออกรวม

ผลกระทบดังกล่าวแม้ไม่ได้น้อย แต่ก็นับว่าไม่ได้รุนแรงมากดังเช่นที่ประเทศไทยเคยประสบในอดีต ซึ่งมูลค่าส่งออกสินค้าไทยเคยหดตัวระดับสองหลักในปี 2552 หลังต้องเผชิญวิกฤตแฮมเบอเกอร์

ยกตัวอย่างในกรณีของจีน ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกไปยังสหรัฐฯ มากกว่าไทย ผลของหน้าผาการคลังอาจทำให้จีนส่งออกไปสหรัฐฯ ได้ลดลงร้อยละ 6 และจะทำให้จีนเองมีความต้องการนำเข้าสินค้าจากประเทศคู่ค้าอื่น รวมทั้งไทย น้อยลงตามไปด้วยเช่นกัน

ซึ่งจากการประเมินพบว่า จีนจะนำเข้าสินค้าจากไทยลดลงคิดเป็นร้อยละ 0.18 ของการส่งออกรวมของไทย ดังนั้น หากประเทศคู่ค้าหลักของไทยได้รับผลกระทบจากหน้าผาการคลังด้วยกันทั้งหมด ทำให้เมื่อรวมผลกระทบทั้งหมดเข้าด้วยกันจะพบว่า ส่งออกไทยจะถูกฉุดให้ลดลงร้อยละ 1 จากวิกฤตหน้าผาการคลังในปีหน้า

ฉากสุดท้ายของการเจรจาจะลงเอยเช่นไรย่อมยากแก่การคาดเดา หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ต้องเผชิญกับการปรับเพิ่มภาษีและลดค่าใช้จ่ายลงกว่า 6 แสนล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2556 อาจทำให้เศรษฐกิจต้องกลับสู่ภาวะถดถอยอีกครั้งในปีหน้า

ทั้งนี้ สำนักงบประมาณสหรัฐฯ ได้ประเมินผลกระทบในอีกกรณี (Alternative scenario) ด้วยว่า หากผู้นำสหรัฐฯ มีการผ่อนปรนมาตรการขึ้นภาษีและปรับลดค่าใช้จ่ายลงบางส่วน หรือคิดเป็นตัวเงินเพียง 1 ใน 3 ของกรณีหน้าผาการคลังเต็มรูป คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะยังขยายตัวได้ใกล้เคียงร้อยละ 2 ในปีหน้า

ดังนั้น ไม่ว่าผลการเจรจาจะออกมาเป็นหัวหรือก้อย เศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ของโลกก็คงไม่สามารถหลีกเลี่ยงวิกฤตในครั้งนี้ได้ แต่ว่าจะเป็นเพียงการตกหน้าผาอันตื้นเขินหรือหุบเหวอันสูงชัน

คงต้องมาติดตามดูกันว่าผู้นำสหรัฐฯ ภายใต้การนำอีกครั้งของประธานาธิบดีโอบามาจะสามารถมอบของขวัญชิ้นโตให้แก่ชาวอเมริกัน ต้อนรับวันคริสมาสต์อย่างที่ตั้งใจไว้ได้หรือไม่


ข่าวที่เกี่ยวข้อง