นับถอยหลัง "หน้าผาการคลัง" สหรัฐฯ

ต่างประเทศ
31 ธ.ค. 55
15:08
57
Logo Thai PBS
นับถอยหลัง "หน้าผาการคลัง" สหรัฐฯ

นับถอยหลังเหลือเวลาอีกไม่ถึง 24 ชั่วโมง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ใช้มาตั้งแต่สมัยอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช กำลังจะหมดอายุลง ซึ่งจะส่งผลให้ในวันที่ 1 มกราคมนี้ ชาวอเมริกันทุกระดับจะต้องจ่ายภาษีเพิ่ม และรัฐบาลจะตัดลดรายจ่ายภาครัฐลง 600,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อชาวอเมริกัน และทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งตัวแทนของพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันในสภาคองเกรสกำลังเจรจาเพื่อหาทางออกไม่ให้สหรัฐฯเข้าสู่วิกฤต "หน้าผาการคลัง" หรือฟิสคัล คลิฟฟ์ ซึ่งจนถึงตอนนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป

นายแฮร์รี่ รี้ด ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภาของพรรคเดโมแครต กำหนดให้สมาชิกสภาคองเกรสเข้าร่วมประชุมกันอีกครั้งในเวลา 11.00 น.ของวันที่ 31 ธันวาคมตามเวลาท้องถิ่น หรือ 23.00 น.ตามเวลาในไทย ซึ่งถือเป็นการประชุมนัดสุดท้าย ในการหาข้อสรุปร่วมกันระหว่างพรรครีพับลิกันและเดโมแครต ว่าจะออกมาตรการใดมาใช้ เพื่อป้องกันไม่ให้สหรัฐฯเข้าสู่วิกฤต "หน้าผาการคลัง" ซึ่งจะมีผลโดยอัตโนมัติในวันที่ 1 มกราคมนี้ ที่จะทำให้ชาวอเมริกันทุกระดับจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น และรัฐบาลจะต้องลดรายจ่ายลง 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอยและจะมีคนตกงานมากขึ้น

รายงานจากที่ประชุมระบุว่า ทั้งสองพรรคต่างมีจุดยืนในการแก้ปัญหาแตกต่างกันมาก จนไม่สามารถประนีประนอมได้ ตัวอย่างเช่น พรรคเดโมแครตต้องการให้ขึ้นภาษีกับคนรวยที่มีรายได้ปีละ 250,000 ดอลลาร์ขึ้นไป แต่พรรครีพับลิกันต้องการให้ขึ้นภาษีกับคนที่มีรายได้เกิน 550,000 ดอลลาร์ขึ้นไป ส่วนเรื่องสวัสดิการสังคมก็ยังเป็นประเด็นหลักที่ถกเถียงกัน ว่าจะขยายเวลาในการให้สวัสดิการกับคนว่างงาน และการจ่ายเงินให้กับแพทย์ในโครงการเมดิแคร์ตามอัตราเดิมหรือไม่

หากว่าในท้ายที่สุด เมื่อพ้นกำหนดเส้นตายและยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ ประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า จะนำข้อเสนอของเขาให้ที่ประชุมพิจารณารับรอง เป็นข้อเสนอที่ต้องการปกป้องชนชั้นกลางและชนชั้นล่าง คือการยืดเวลาในการลดภาษีให้กับครอบครัวที่มีรายได้ต่ำกว่า 250,000 ดอลลาร์ต่อปี และยืดเวลาประกันการว่างงานให้กับคนตกงาน 2 ล้านคนออกไปก่อน

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ได้ชี้ถึงความเป็นไปได้ 3 ทางที่รัฐบาลสหรัฐฯจะจัดการกับวิกฤต "หน้าผาการคลัง" ข้อแรกคือปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามอัตโนมัติ วิธีนี้แม้จะทำให้เศรษฐกิจถดถอย แต่ในระยะยาวเศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นกลับมา ข้อสอง ต่ออายุมาตรการลดภาษีออกไปอีก วิธีนี้แม้จะช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐฯเดินหน้าต่อไปได้ โดยไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย แต่หนี้สาธารณะจะพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ และจะลุกลามจนกลายเป็นวิกฤตการคลังในอนาคต ข้อสุดท้ายคือการหาทางออกที่สมดุล เช่นยอมตัดงบประมาณในบางส่วน และขึ้นภาษีบางส่วน เพื่อบรรเทาความเสียหายจากการตก
"หน้าผาการคลัง"


ข่าวที่เกี่ยวข้อง