มศว เปิดติวโอเน็ต 5 วิชาให้นร.ในนครนายก หวังลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

สังคม
9 ม.ค. 56
09:01
351
Logo Thai PBS
มศว เปิดติวโอเน็ต 5 วิชาให้นร.ในนครนายก หวังลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

ร้อยละ 99 น.ร.ไม่มีโอกาสติวเสริมความรู้ หวังยกระดับมาตรฐานการศึกษาต่างจังหวัด

 ผศ. กิตติคุณ รุ่งเรือง ผอ.สถาบันวิจัยและสาธิตการศึกษา และผอ.โรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) องครักษ์ เปิดเผยว่า ในวันที่ 9-13 ม.ค. 2556 ทางสถาบันฯได้จัดโครงการเพิ่มศักยภาพ ติวเข้มกับมศว ซึ่งเป็นการเสริมความรู้เพื่อจะทำคะแนนสอบโอเน็ต ( O-NET) ใน 5 วิชาคือ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย สังคมศึกษา คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ จากยุทธศาสตร์ของมศวที่เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อสังคม ทำให้เราตระหนักถึงสภาพปัญหาทางการศึกษาและต้องการช่วยเหลือสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะมาตรฐานความรู้ความสามารถของนักเรียนในเขตจังหวัดนครนายกและจังหวัดใกล้เคียงในเขตพื้นที่การศึกษา (สพม.7) ที่อยู่ระดับที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง นักเรียนที่มีโอกาสพ่อแม่จะนิยมส่งลูกหลานไปเรียนโรงเรียนเอกชนที่มีชื่อ ในเขตตัวเมืองใหญ่ๆ และเข้ากรุงเทพฯเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากจังหวัดนครนายกไม่ได้ไกลจากกรุงเทพฯการเดินทางสะดวกสำหรับคนที่มีฐานะปานกลายและฐานะดี 

 
ส่วนเด็กที่เรียนอยู่ในจังหวัดนครนายกในปัจจุบัน เป็นเด็กที่ไม่ค่อยจะมีโอกาส ไม่รู้จะไปเรียนทีไหน เด็กนักเรียนร้อยละ 99 ไม่มีโอกาสได้ติวความรู้จากผู้ที่มีความรู้ความสามารถ หรือครูอาจารย์ที่มีเทคนิคการสอนการอธิบายเก่งๆ  จึงเกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาขึ้น โครงการนี้จึงเป็นการกระจายโอกาสทางการศึกษา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ทำให้นักเรียนในเขตจังหวัดนครนายกและยังมีนักเรียนจากจังหวัดใกล้เคียงมีโอกาสเข้าร่วมโครงการนี้อีกด้วย มศว จึงมอบโอกาสนี้ให้นักเรียน โดยใช้ครูติวเตอร์จากโรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร(ฝ่ายมัธยม) และสาธิต มศว ปทุมวัน จัดมาแล้วสองรุ่น นักเรียนในพื้นที่จังหวัดนครนายกและสพม.7กระตือรือร้นที่จะเข้าร่วมโครงการนี้เป็นอย่างมาก
 
“ต้องยอมรับว่ามาตรฐานการศึกษาของโรงเรียนจำนวนมากมีปัญหาขาดครู และการจัดสรรครูลงสู่พื้นที่ในโรงเรียนต่างๆเป็นการจัดสรรครูที่ไม่ตรงวุฒิทางการศึกษาที่สำเร็จการศึกษามา เช่นโรงเรียนขาดครูคณิตศาสตร์แต่จัดสรรครูพละศึกษาไปสอน เด็กในโรงเรียนนั้นก็จะได้ความรู้ ความคิดด้านคณิตศาสตร์ไม่เต็มที่ นอกจากนี้ครูยังมีภาระการสอนจำนวนมาก ส่งผลให้การสอนไม่ลุ่มลึกมากพอ ครูไม่มีโอกาสไม่มีเวลาในการหาความรู้ใหม่ๆ ซึ่งน่าเสียดายอย่างยิ่ง ครูในสังกัด สพฐ.บางคนเป็นคนเก่ง แต่เมื่อเข้าสู่ระบบโรงเรียนที่ต้องรับภาระงานมากมาย ไม่มีเวลาในการสอนที่มากพอ เรื่องเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาและส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาของนักเรียนแทบทั้งสิ้น”
 
ผศ.กิตติคุณ กล่าวว่า โครงการเพิ่มศักยภาพ ติวเข้มกับมศว เป็นกิจกรรมหนึ่งในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของประเทศ เป็นโครงการหนึ่งที่ ทำให้วงการศึกษาในชุมชน จ.นครนายกและจังหวัดใกล้เคียงตื่นตัวมากขึ้น นำไปสู่ความร่วมมือทางวิชาการที่มากขึ้นด้วยระหว่างการศึกษาระดับพื้นฐานและระดับอุดมศึกษา ซึ่งถือเป็นการทำงานที่เชื่อมโยงกัน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง