สภาผู้แทนพม่าผ่านมติเรียกร้องยุติการต่อสู้ในรัฐ "คะฉิ่น"

ต่างประเทศ
18 ม.ค. 56
13:59
114
Logo Thai PBS
สภาผู้แทนพม่าผ่านมติเรียกร้องยุติการต่อสู้ในรัฐ "คะฉิ่น"

สภาผู้แทนราษฎรพม่า รับรองร่างมติเรียกร้องให้ยุติการต่อสู้ในรัฐคะฉิ่น พร้อมเริ่มกระบวนการเจรจา หลังจากมีการต่อสู้อย่างรุนแรง ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา และกลายเป็นประเด็นที่ทำให้นานาชาติ จับตามองพม่าอย่างใกล้ชิด และเริ่มไม่แน่ใจเรื่องการเดินหน้าปฏิรูปประเทศ

สภาผู้แทนราษฎรพม่า รับรองมติเรียกร้องการต่อสู้ระหว่างกองทัพพม่า กับกองกำลังปลดปล่อยคะฉิ่น ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปี 2554 และรุนแรงขึ้นในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาในทันที และให้เริ่มกระบวนการเจรจาสันติภาพ ให้เร็วที่สุด

โดยมติที่นำเสนอเป็นร่างของ ส.ส.หญิงจากรัฐคะฉิ่น ขณะที่พลเอกฉ่วย มาน ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้อ่านมติดังกล่าวต่อสาธารณะ และขั้นตอนต่อไปคือต้องส่งผ่านมติดังกล่าว ต่อพลเอกเต็ง เส่ง ประธานาธิบดี

แม้สภาผู้แทนพม่า ที่มีผู้แทนสัดส่วนของกองทัพถึง 1 ใน 4 จะให้การรับรองร่างมติดังกล่าว แต่ก็ไม่มีความชัดเจนว่ามตินี้จะได้รับการปฏิบัติในพื้นที่ต่อสู่ที่รัฐคะฉิ่น ทางตอนเหนือของประเทศหรือไม่ ซึ่ง ส.ส.หญิงที่เป็นผู้เสนอร่างมติ ระบุว่าจะต้องจับตาสถานการณ์ต่อไป ซึ่งกระบวนการเจรจาทางการเมืองจะเริ่มต้นได้ ก็ต่อเมื่อความรุนแรงในพื้นที่ยุติลงเท่านั้น

การต่อสู้ในรัฐคะฉิ่นที่รุนแรงขึ้นในช่วงหลัง และมีรายงานการโจมตีทางอากาศโดยทหารพม่า เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา(14 ม.ค.) กลุ่มปลดปล่อยรัฐคะฉิ่น ระบุว่า กองทัพเปิดฉากยิงกระสุนปืนใหญ่โจมตีเมืองไลซา ฐานที่มั่นของกองกำลังปลดปล่อยคะฉิ่นเป็นครั้งแรก ทำให้พลเรือนเสียชีวิต 3 คนและบาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง

ซึ่งกลุ่มคะฉิ่น นับเป็นกลุ่มชาติพันธ์กลุ่มใหญ่ที่สุด ที่ยังคงต่อสู้กับกองทัพพม่า แม้ว่าประธานาธิบดีจะสั่งการให้กองทัพยุติการต่อสู้ กับกองกำลังกลุ่มต่างๆในประเทศ นับตั้งแต่ปีที่แล้ว(2555)ก็ตาม ท่ามกลางการจับตาด้วยความกังวลของนานาชาติ ว่าจะส่งผลต่อการปฏิรูปประเทศที่เคยรุดหน้า

เสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อพัฒนาการในพม่า ไม่หมดแค่นี้ เพราะนางออง ซาน ซูจี ที่เคยได้รับการยกย่องชื่นชม จากนานาชาติ ในฐานะผู้ที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยพม่า ก็ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เกี่ยวกับจุดยืนของเธอเช่นกัน

หลังจากทางพรรคเอ็นแอลดี รับเงินบริจาคเพื่อการศึกษา จากนักธุรกิจที่ใกล้ชิดกับอดีตรัฐบาลทหารพม่า ระหว่างการจัดงานระดมทุนของพรรค ทั้งที่ตัวนางซูจี เคยต่อต้านรัฐบาลทหารพม่ามาก่อน

ล่าสุดนางซูจีออกมาปกป้องการตัดสินใจรับเงินบริจาคของทางพรรค ว่า เงินที่รับบริจาคมาจากนักธุรกิจ เป็นเงินที่ได้มาอย่างถูกต้องตามกฏหมาย และเป็นการบริจาคเพื่อสิ่งที่ดี โดยสามารถจัดตั้งเป็นกองทุนการศึกษา ให้กับเด็กๆยากไร้ได้ถึง 10,000 คน หากทางพรรคเลือกที่จะไม่รับบริจาคเงินจากนักธุรกิจกลุ่มดังกล่าว คนที่จะเสียผลประโยชน์ก็คือเด็กๆ ที่จะไม่มีเงินเรียนต่อ

มีรายงานว่าการระดมทุนเพื่อการศึกษาของพรรคเอ็นแอลดี ได้เงินถึง 500 ล้านจ๊าด หรือราว 18 ล้านบาท หลังหักค่าใช้จ่าย เหลือเป็นทุนการศึกษาแก่เด็กๆ 320 ล้านจ๊าด


ข่าวที่เกี่ยวข้อง