แพทย์ สธ.เตือนติดเชื้ออีโคไล ระวังการบริโภค ให้ทานผักปรุงสุก

4 มิ.ย. 54
13:58
6
Logo Thai PBS
แพทย์ สธ.เตือนติดเชื้ออีโคไล ระวังการบริโภค ให้ทานผักปรุงสุก

การแพร่ระบาดของเชื้ออีโคไลอย่างรวดเร็วจนทำให้มีผู้เสียชีวิต และติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในยุโรป สร้างความกังวลใจให้กับผู้ที่อาศัยในเยอรมนีและประเทศในแถบยุโรปอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ที่ชอบรับประทานผักสดต้องระมัดระวังมากขึ้น แม้จะยังไม่พบการติดเชื้ออีโคไลสายพันธุ์ใหม่ในประเทศไทย แต่แพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค ระบุว่าไม่ควรประมาท และแนะนำให้คนไทยบริโภคผักที่ปรุงสุก หรือผักสดต้องล้างให้สะอาดก่อนรับประทาน

แตงกวาออแกนิกส์ หรือ แตงกวาที่ปลูกโดยไม่ใช้สารเคมีจากประเทศสเปน เคยถูกบ่งชี้ว่าเป็นสาเหตุของการระบาดของเชื้ออีโคไล ที่คร่าชีวิตคนในประเทศเยอรมนี และประเทศอื่นๆ ในยุโรปไปแล้วเกือบ 20 คน และมีผู้ติดเชื้อไม่ต่ำกว่า 2,000 คน หลายประเทศสั่งระงับการนำเข้าผักสดจากสเปน จนทำให้เกษตรกรสูญเสียรายได้สัปดาห์ละมากกว่า 200 ล้านยูโรหรือกว่า 8,600 ล้านบาท ก่อนที่คณะกรรมาธิการยุโรปจะแถลงว่า ผลตรวจแตงกวาในเยอรมนี และสเปนไม่พบเชื้อแบคทีเรีย อีโคไลสายพันธุ์ที่กำลังระบาดอยู่ในยุโรปในปัจจุบัน พร้อมกับยกเลิกคำเตือนเฝ้าระวังแตงกวาจากสเปน

ล่าสุด องค์การอนามัยโลก แถลงข่าวว่าเชื้ออีโคไลที่กำลังระบาดเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่เคยพบการระบาดมาก่อนหน้านี้ การจัดเรียงตัวทางพันธุกรรมแสดงให้เห็นว่าเชื้ออีโคไลสายพันธุ์ใหม่น่าจะกลายพันธุ์มาจากเชื้ออีโคไล 2 ชนิด ทำให้ระบาดอย่างรุนแรง และกว้างขวาง ขณะที่ผลตรวจสอบจากห้องแล็บของเยอรมนี และจีน ยังพบว่าเป็นเชื้ออีโคไลสายพันธุ์ที่ร้ายแรงมาก และดื้อยาปฏิชีวนะ แต่ต้องใช้เวลาอีกหลายวันกว่าจะสามารถระบุแหล่งที่มาของเชื้ออีโคไลสายพันธุ์ใหม่ได้ กระแสการระบาดทำให้คนไทยเริ่มหวั่นใจกับการรับประทานผักสดเช่นกัน

นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เชื้ออีโคไลเป็นเชื้อโรคที่พบบ่อยมากในสัตว์ ทำให้เกิดการท้องเสีย มีหลายชนิด แต่ชนิดที่พบไปทำลายเม็ดเลือด และทำให้การทำงานของไตล้มเหลว ซึ่งการติดโรคสมัยก่อนในชาวยุโรปพบว่าเกิดจากการกินสเต็ก แฮมเบอร์เกอร์ที่ไม่สุกดี แต่ในปัจจุบันพบว่ากินผักที่ปนเปื้อนไม่สะอาดสามารถติดเชื้อได้เช่นกัน

สำหรับเชื้ออีโคไล ซึ่งอยู่ในกลุ่มที่จะทำให้เสียชีวิตจะมีชื่อเรียกโดยเฉพาะ ยกตัวอย่างที่ระบาดมากในสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เรียกว่า โอ 157 แต่ที่พบในเยอรมนีที่กำลังระบาดในปัจจุบันเรียกว่า โอ 104 คิดว่าเป็นเชื้อตัวใหม่ เพราะว่าเชื้อโรคเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยยังไม่พบเชื้อโรคชนิดนี้

นพ.คำนวณ กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2540 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขของไทยตรวจพบเชื้ออีโคไลชนิดที่สร้างสารพิษในผู้ป่วย 7 คน ซึ่งเป็นเด็ก 5 คน โดยเป็นเชื้ออีโคไลสายพันธุ์ โอ 8 โอ 91 โอ 111 โอ 157 แต่ถ้าพบในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปีและผู้ใหญ่อายุ 60 ปีขึ้นไป ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีภาวะแทรกซ้อนสูง และมีโอกาสเสียชีวิตได้ โดยทั่วไปมีอัตราการเสียชีวิตประมาณร้อยละ 2-3

แต่เชื้ออีโคไลสายพันธุ์ใหม่ที่กำลังระบาดในยุโรปผู้ป่วยกลับเป็นผู้ใหญ่วัยทำงาน และผู้หญิง ซึ่งคาดว่าเป็นกลุ่มผู้รักสุขภาพที่ชอบรับประทานผักสด เช่น สลัด แพทย์ยังแนะนำด้วยว่าแม้แต่คนไทยควรรับประทานผักลวก เพราะจะมั่นใจว่าสะอาดปลอดภัยกว่าการรับประทานผักสด

สำหรับคำแนะนำคือผู้ที่จะเดินทางไปประเทศในทวีปยุโรปได้ แต่ในระยะนี้ควรหลีกเลี่ยงการกินผักสด สลัด อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ติดเชื้ออีไโคไลแล้วมีโอกาสแพร่เชื้อได้เช่นกัน แต่มักผ่านทางอาหาร ใครท้องเสียไม่ควรปรุงอาหารให้คนอื่นกิน ถ้าจำเป็นต้องปรุงต้องล้างมือ เชื้อโรคติดกันผ่านทางการปนเปื้อน ถ้าเข้าห้องน้ำ และไม่ล้างมือจะติดทางอาหาร ถ้าพูดใส่กันหรือหายใจใส่กันไม่ติด เพราะจะติดทางอาหารและน้ำ ส่วนน้ำลายนั้นไม่ติดเพราะเชื้อออกมาทางอุจจาระไม่ใช่ทางอื่น

นพ.คำนวณ กล่าวอีกว่า อาการที่ตั้งข้อสงสัยได้ว่าอาจติดเชื้ออีโคไล คือการถ่ายอุจจาระแบบมีมูกปนเลือด ซึ่งต่างจากอาการท้องร่วงโดยทั่วไปที่ถ่ายเหลวเป็นน้ำ 2-3 ครั้ง โดยสามารถรักษาเบื้องต้นได้ด้วยการดื่มน้ำเกลือแร่ แต่หากท้องเสียแบบมีมูกปนเลือดเพียง 1 ครั้งต้องรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะว่าต้องได้รับการรักษาเป็นพิเศษ ซึ่งอาจจะต้องล้างไต และให้น้ำเกลือ ที่สำคัญห้ามซื้อยาปฏิชีวนะรับประทานเอง เพราะบางครั้งอาจไม่ได้ผล และทำให้อาการรุนแรงขึ้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง